TNN 716 รอบต่อวินาที ! พบดาวนิวตรอน หนึ่งในดาวที่หมุนเร็วที่สุดในจักรวาล

TNN

Tech

716 รอบต่อวินาที ! พบดาวนิวตรอน หนึ่งในดาวที่หมุนเร็วที่สุดในจักรวาล

716 รอบต่อวินาที ! พบดาวนิวตรอน หนึ่งในดาวที่หมุนเร็วที่สุดในจักรวาล

นักวิจัยจาก DTU Space พบดาวนิวตรอนหมุนด้วยความเร็ว 716 รอบต่อวินาที ถือเป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่หมุนเร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ

นักวิจัยจาก DTU Space (มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเดนมาร์ก หรือ Technical University of Denmark) พบดาวนิวตรอนในกาแล็กซีทางช้างเผือก หมุนด้วยความเร็ว 716 รอบต่อวินาที ถือเป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่หมุนเร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ


โดยดาวนิวตรอนดังกล่าวนี้ชื่อ 4U 1820-30 อยู่ในระบบดาวคู่รังสีเอกซ์ (X-ray binary star system) หรือระบบที่ประกอบด้วยเทหวัตถุ 2 ชนิด ดึงดูดสสารและปล่อยรังสีเอกซ์ออกมา ดาวนิวตรอนนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 กิโลเมตร แต่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 1.4 เท่า อยู่ห่างจากโลกเราไปประมาณ 26,000 ปีแสง ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูใกล้ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา


นักวิจัยศึกษาการระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์จากระบบดาวนี้ ทำให้พบว่าดาวนิวตรอนหมุนรอบแกนกลางด้วยความเร็ว 716 ครั้งต่อวินาที หากการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตได้ยืนยันประเด็นนี้ ดาวนิวตรอน 4U 1820-30 จะกลายเป็นหนึ่งในเทหวัตถุที่มีการหมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดที่เคยสังเกตพบในจักรวาล เป็นรองเพียงดาวนิวตรอนอีกดวงหนึ่งที่มีชื่อว่า PSR J1748–2446 ที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็ว 716 ครั้งต่อวินาที ตามการรายงานของ ดร. กาวราวา เค. ไจซาล นักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่ง DTU Space หนึ่งในทีมวิจัยครั้งนี้ 


ทั้งนี้แม้  ดาวนิวตรอน 4U 1820-30 และ ดาวนิวตรอน  PSR J1748–2446  จะหมุนด้วยความเร็วเท่ากัน คือ  716 ครั้งต่อวินาที แต่ความเร็วของ PSR J1748–2446 ได้รับการยืนยันแล้ว จึงถือว่าเป็นเทหวัตถุที่หมุนเร็วที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในจักรวาล


ดาวนิวตรอน 4U 1820-30 ถูกตรวจจับโดยกล้องโทรทรรศน์เอกซ์เรย์ไนเซอร์ (NICER) ขององค์การนาซา (NASA) ติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และได้มีการติดตั้งเทคโนโลยีติดตามดวงดาวที่พัฒนาโดย DTU Space โดยเฉพาะ ช่วยให้กล้องโทรทรรศน์สามารถชี้ไปยังดาวนิวตรอนที่อยู่ห่างไกลในกาแล็กซีทางช้างเผือกได้อย่างแม่นยำ


การค้นพบนี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2024 


ที่มาข้อมูล ScitechDaily, IOPScience

ที่มารูปภาพ ScitechDaily

ข่าวแนะนำ