นาซาอัปเดตพื้นที่ 9 แห่ง เป้าหมายที่ยานอาจลงจอดบนดวงจันทร์พร้อมนักบินอวกาศในภารกิจอาร์เทมิส 3 ปี 2026
นาซาอัปเดตพื้นที่ 9 แห่ง ที่ยานอาจลงจอดบนดวงจันทร์พร้อมนักบินอวกาศที่เป็นมนุษย์ในภารกิจอาร์เทมิส 3 ปี 2026 การลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์โดยสารเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 5 ทศวรรษ
พื้นที่ทั้ง 9 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ โดยนาซาคัดเลือกจากผลการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมแบบละเอียด ร่วมกับทีมงานนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจากหลายสาขามาทำงานร่วมกันวิเคราะห์พื้นที่บริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ โดยใช้ข้อมูลจากยาน Lunar Reconnaissance Orbiter ของ NASA และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดวงจันทร์จำนวนมาก
พื้นท่ี 9 แห่ง บนดวงจันทร์ที่ถูกเลือกประกอบด้วย (ไม่เรียงลำดับตามความสำคัญ)
9. สเลเตอร์เพลน
เหตุผลที่ทำให้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้รับความสนใจ เนื่องจากขั้วใต้ของดวงจันทร์มีพื้นที่ที่แสงอาทิตย์ส่องถึงเกือบตลอดเวลา ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนและมีประโยชน์สำหรับการตั้งสถานีถาวรและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสนับสนุนระบบต่าง ๆ ในการอยู่อาศัยและดำรงชีพได้ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานของน้ำแข็งในหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วใต้ ซึ่งมีร่มเงาถาวรที่ไม่เคยโดนแสงอาทิตย์ น้ำแข็งนี้ถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญมาก เนื่องจากสามารถใช้ในการสกัดน้ำสำหรับดื่ม การผลิตออกซิเจนสำหรับการหายใจ และยังสามารถแตกตัวเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงจรวดสำหรับภารกิจต่อไป
“ภารกิจอาร์เทมิส 3 การส่งมนุษยชาติกลับไปยังดวงจันทร์ และสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่เคยสำรวจมาก่อน โดยสาเหตุที่เลือกพื้นที่เป้าหมายเอาไว้ 9 แห่ง เพื่อเน้นย้ำถึงมาตรการความปลอดภัยของการทำภารกิจเป็นที่ตั้ง และช่วยให้นักบินอวกาศทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตบนพื้นผิวดวงจันทร์" ลาคีชา ฮอว์กินส์ (Lakiesha Hawkins) รองผู้อำนวยการฝ่ายโครงการจากดวงจันทร์สู่ดาวอังคารกล่าวเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ของนาซา
สำหรับปัจจัยในการคัดเลือก ได้แก่ ศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ ความพร้อมในการปล่อยยานอวกาศ ความเหมาะสมของภูมิประเทศ ความสามารถในการสื่อสารกับโลก และสภาพแสงจากดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ ทีมยังได้ประเมินความสามารถในการโคจรไปถึงพื้นที่บริเวณดังกล่าวของจรวด SLS ของนาซายานอวกาศ Orion และ Starship HLS เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ลงจอดปลอดภัยและนักบินอวกาศสามารถเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวได้
นอกจากนี้ทีมประเมินสถานที่ของนาซายังเปิดโอกาสให้ชุมชนนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดวงจันทร์ได้มีส่วนร่วม ผ่านการประชุมและเวิร์กช็อปเพื่อรวบรวมข้อมูล สร้างแผนที่ทางธรณีวิทยา และประเมินธรณีวิทยาของภูมิภาคของจุดลงจอด รวมไปถึงการวางแผนสำหรับโอกาสทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ในการทำภารกิจถัดไป เช่น ภารกิจอาร์เทมิส 4 และ 5 รวมไปถึงการวิ่งสำรวจโดยรถยนต์ LTV (Lunar Terrain Vehicle) เป็นต้น