หุ่นยนต์เล่นเชลโลแสดงร่วมกับวงซิมโฟนีออร์เคสตรา
นักแต่งเพลงชาวสวีเดน โชว์ผลงานการฝึกสอนหุ่นยนต์แขนกล ให้สามารถเล่นเครื่องดนตรี เชลโล ร่วมกับวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตรา (Symphony Orchestra) โดยถือเป็นการแสดงร่วมกันครั้งแรกของโลก
นักแต่งเพลงชาวสวีเดน โชว์ผลงานการฝึกสอนหุ่นยนต์แขนกล ให้สามารถเล่นเครื่องดนตรี เชลโล ร่วมกับวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตรา (Symphony Orchestra) โดยถือเป็นการแสดงร่วมกันครั้งแรกของโลก
ความสามารถในการบรรเลงเพลงของแขนหุ่นยนต์ ได้มาจากการโปรแกรมคำสั่ง ผ่านเพลงที่เป็นผลงานของนักแต่งเพลงชาวสวีเดนชื่อดัง เจคอบ มุลรัด (Jacob Mühlrad) ซึ่งเขากล่าวว่าเป้าหมายของการใช้หุ่นยนต์เข้ามาบรรเลงเพลงนี้ ไม่ได้มีเพื่อเข้ามาแทนที่นักดนตรี แต่เป็นการมองหาแนวทางการใช้งานหุ่นยนต์ เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี
ตัวอย่างเช่น กายวิภาคอันเป็นเอกลักษณ์ของแขนหุ่นยนต์ ทำให้มันสามารถเล่นดนตรีด้วยทักษะที่มือของมนุษย์ไม่สามารถทำได้ และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เหล่านี้ ช่วยให้นักแต่งเพลงมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น
ส่วนแผนการต่อไป คือการแต่งเพลงใหม่ ๆ สำหรับเชลโลหุ่นยนต์ และกำลังวางแผนการแสดงครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปลายปีนี้ รวมถึงอาจจะมีการขยายการพัฒนาร่วมกับนักพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อให้มันสามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่น ๆ ในอนาคต รวมถึงไวโอลินด้วย
การใช้งานหุ่นยนต์ในวงการดนตรี ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ในประเทศเยอรมนี ได้มีการนำหุ่นยนต์ไมารับหน้าที่เป็น วาทยกร (Conductor) ทำหน้าที่ควบคุมวงนักดนตรีมนุษย์ แสดงคอนเสิร์ตสุดพิเศษมาแล้วเช่นกัน
โดยเป็นหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า ไมร่า (MAiRA) ผลิตโดยบริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติเยอรมันอย่าง นิวรา โรโบติกส์ (Neura Robotics) ที่ถูกนำมาฝึกฝนด้านวาทยกรเพิ่มเติม โดยใช้เวลาฝึกฝนประมาณ 2 ปี แขนหุ่นยนต์นี้มีการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ สามารถเคลื่อนไหวเพื่อรักษาจังหวะและควบคุมการแสดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าล่าสุดของเทคโนโลยีเครื่องจักรในอุตสาหกรรมดนตรี และยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์และเครื่องจักรจะทำงานร่วมกันในอุตสาหกรรมดนตรีได้อย่างไร รวมถึงโอกาสที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ที่ข้ามขีดจำกัดความสามารถของมนุษย์ได้ด้วย
ที่มาข้อมูล APvideohub
ที่มารูปภาพ APvideohub
ข่าวแนะนำ