จรวดพัฒนาโดยนักศึกษาสวิส ทดสอบลงจอดแนวตั้งสำเร็จครั้งแรกในยุโรป !
นักศึกษาสวิตเซอร์แลนด์ พัฒนาจรวดชื่อ Colibri ด้วยต้นทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาท และทำการทดสอบ Hop Test สำเร็จเป็นครั้งแรกของทวีปยุโรป แซงหน้าองค์การอวกาศยุโรปและบริษัทเอกชน
กลุ่มนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐ โลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการทดสอบ Hop Test หรือการทดสอบยกตัวจรวดให้ลอยตัวขึ้นจากพื้นดิน และกลับมาลงจอดในแนวตั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินความสามารถของยานพาหนะในการปล่อยตัว การทรงตัวในอากาศ และการลงจอดแบบควบคุม และการทดสอบครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบนำจรวดลงจอดแนวตั้งสำเร็จครั้งแรกของทวีปยุโรป แซงหน้าบริษัทเอกชนด้านอวกาศไปได้ด้วย !
นักศึกษากลุ่มนี้ มีชื่อทีมว่า กรุยแยร์ สเปซ โปรแกรม (Gruyère Space Program หรือ GSP) ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 มีเป้าหมายเพื่อรวมตัวกันพัฒนาเครื่องสาธิตจรวด ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยจรวดที่พัฒนาขึ้นนี้ชื่อ โคลิบริ (Colibri) มีความสูง 2.5 เมตร ใช้เครื่องยนต์จรวด F-100 แบบไบโพรเพลแลนท์ (Bipropellant) หรือ เครื่องยนต์ใช้เชื้อเพลิง 2 ชนิดแยกกัน ที่ GSP พัฒนาขึ้นมาเอง สามารถสร้างแรงขับดันเมื่อปล่อยตัว 1.2 กิโลนิวตัน การพัฒนาจรวดดังกล่าวนี้มีต้นทุนน้อยกว่า 250,000 ฟรังก์สวิส หรือน้อยกว่าประมาณ 9,800,000 บาท ตามการรายงานในเว็บไซต์ของ GSP
ทีมพัฒนาได้นำจรวด Colibri ไปทดสอบ Hop Test เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา โดยพบว่าจรวดสามารถบินขึ้นไปที่ระดับความสูง 105 เมตร จากนั้นจึงบินไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 30 เมตร ก่อนจะกลับสู่แท่นปล่อยจรวด และลงจอดได้สำเร็จ โดยใช้เวลาบินทั้งหมด 60 วินาที
ก่อนการปล่อยตัว เจเรมี มาร์ซิอัค (Jérémy Marciacq) ประธาน GSP กล่าวว่าเป้าหมายของกลุ่มคือ "การแสดงให้เห็นว่านักศึกษา สามารถบินเครื่องสาธิตจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ก่อนบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานอวกาศจะทำได้สำเร็จ"
ทั้งนี้ Hop Test ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลิตจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ บริษัทแรกที่ทดสอบสำเร็จคือบริษัทด้านอวกาศของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) อย่าง สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) แต่หากพิจารณาเฉพาะในทวีปยุโรป ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถทำได้สำเร็จ แม้จะว่ามีหลายองค์กรกำลังพัฒนา เช่น องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และบริษัทเอกชนอื่น ๆ ดังนั้นความสำเร็จของนักศึกษาทีม GSP จึงเป็นความสำเร็จครั้งแรกของทวีปยุโรป
สำหรับการพัฒนาต่อไปในอนาคตของ GSP คือพวกเขาได้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัปใหม่ขึ้นมาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อเพฟ สเปซ (PAVE Space) เพื่อต่อยอดนำเทคโนโลยีไปใช้งาน แต่เว็บไซต์ European Spaceflight รายงานว่า บริษัทนี้ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนาจรวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้เต็มรูปแบบ แต่จะนำ Colibri ไปใช้เกี่ยวกับการจัดการดาวเทียม ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะให้บริการดังกล่าวภายในปี 2027
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, EuropeanSpaceFlight
ที่มารูปภาพ Gruyere Space Program
ข่าวแนะนำ