TNN Blue Origin ทดสอบ New Shepard รุ่นใหม่ในภารกิจ NS-27

TNN

Tech

Blue Origin ทดสอบ New Shepard รุ่นใหม่ในภารกิจ NS-27

Blue Origin ทดสอบ New Shepard รุ่นใหม่ในภารกิจ NS-27

Blue Origin เปิดตัวจรวด New Shepard ลำที่สองในภารกิจ NS-27 จากบริเวณฐานปล่อยจรวด Launch Site One เมืองแวนฮอร์น รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

วันที่ 23 ตุลาคม เวลา 22.27 น. ตามเวลาในประเทศไทย บริษัท Blue Origin ประสบความสำเร็จในการทดสอบจรวด New Shepard รุ่นใหม่ล่าสุดในภารกิจ NS-27 จากบริเวณฐานปล่อยจรวด Launch Site One เมืองแวนฮอร์น รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ภารกิจนี้ไม่มีนักบินอวกาศภายในแคปซูลจรวด New Shepard และถูกเลื่อนมาจากกำหนดการเดิมในวันที่ 7 ตุลาคม เนื่องจากเกิดปัญหาด้านระบบนำทาง GPS บนจรวด

ภารกิจ NS-27 ตั้งเป้าทดสอบจรวด New Shepard รุ่นใหม่สำหรับใช้ขนส่งนักท่องเที่ยวอวกาศของบริษัท โดยจรวด New Shepard รุ่นใหม่นี้แบ่งการทำงานจรวดออกเป็น 2 ขั้นตอน ประกอบด้วยจรวดขั้นแรกที่เรียกว่า Booster 5 และขั้นตอนที่สองแคปซูลลูกเรือชื่อ RSS Kármán Line ซึ่งถูกตั้งชื่อตามเส้น Kármán เส้นแบ่งเขตความสูง 80 กิโลเมตร ขอบอวกาศตามมาตรฐานการวัดความสูงของสหรัฐอเมริกา 

ความพิเศษของจรวด New Shepard รุ่นใหม่ คือ ชิ้นส่วน 99% ของจรวด รวมไปถึงจรวดขับดัน แคปซูล เครื่องยนต์ ขาตั้ง และร่มชูชีพ  สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ จรวด Booster 5 เดินทางกลับโลกโดยใช้เครื่องยนต์จรวด ส่วนแคปซูล RSS Kármán Line เดินทางกลับโลกโดยใช้ร่มชูชีพ

“จรวด New Shepard รุ่นใหม่ได้มีการอัปเกรดทางเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ของจรวด และได้มีการออกแบบใหม่เพิ่มเติมเพื่อการรองรับน้ำหนักบรรทุกบนบูสเตอร์” ข้อมูลบางส่วนที่บริษัท Blue Origin เปิดเผยในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา

แม้ว่าจะไม่มีมนุษย์ในภารกิจ NS-27 แต่ภารกิจนี้จะบรรทุกสัมภาระเพื่อการวิจัย 12 ชิ้น โดย 5 ชิ้นจะอยู่บนบูสเตอร์ และอีก 7 ชิ้น จะอยู่ภายในแคปซูล RSS Kármán Line  อุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วยระบบนำทางใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับจรวด New Shepard และจรวด New Glenn จรวดขนาดใหญ่ของบริษัท Blue Origin รวมถึงเซ็นเซอร์ LIDAR เพื่อการตรวจจับแสงและการวัดระยะจำนวน 2 ตัว ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์  

นอกจากนี้ยังมีการบรรทุกสิ่งของอื่น ๆ เช่น แบบจำลองของโมโนลิธสีดำจากภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey สำหรับใช้ตีพิมพ์ในหนังสือฉบับพิเศษโดยสำนักพิมพ์ Amaranthine Books ในประเทศโครเอเชีย และโปสการ์ดของนักเรียนจำนวนหลายหมื่นใบในนามของ Club for the Future ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เน้นด้านกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEAM) ของบริษัท Blue Origin


ที่มาของข้อมูล Space

ที่มาของรูปภาพ Blue Origin

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง