นกสูญพันธุ์พูดภาษาคนได้ เสริมประสบการณ์พิพิธภัณฑ์แบบใหม่ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI
พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ นำ AI มาขับเคลื่อนให้โครงกระดูกสัตว์สามารถพูดคุยกับผู้เยี่ยมชมได้ สร้างประสบการณ์แบบใหม่ให้ผู้เยี่ยมชม
นกโดโด้ (Dodo) เป็นนกขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ อยู่ในวงศ์เดียวกับนกนางแอ่นและนกพิราบ มันเคยมีชีวิตอยู่เฉพาะที่เกาะมอริเชียส ในมหาสมุทรอินเดีย และได้สูญพันธุ์ไปเมื่อศตวรรษที่ 17 แต่ล่าสุดพิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อทำให้โครงกระดูกนกโดโด้ สามารถสื่อสารกับผู้เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้ โดยหวังจะทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถถามปัญหาที่ตัวเองต้องการ และเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์
เทคโนโลยี AI ที่ทำให้โครงกระดูกนกโดโด้สามารถสื่อสารได้นี้ พัฒนาโดยบริษัทด้านการศึกษาและเทคโนโลยี ที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศอิสราเอล อย่าง เนเจอร์ เพอร์สเปคทีฟ (Nature Perspectives)
โดยกัล ซาดีร์ (Gal Zadir) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ได้อธิบายถึงวิธีการพัฒนาว่า บริษัทได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า เหมืองดิจิทัล (Digital Mine) หรือก็คือโมเดล AI รูปแบบหนึ่งที่ได้รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการปรับตัวทางวิวัฒนาการของสัตว์ ควบคู่ไปกับ ธนาคารความทรงจำ (Memory Bank) หรือก็คือการจำลองสภาพแวดล้อมที่สัตว์อาจเผชิญในช่วงเวลาที่มันมีชีวิตอยู่ เพื่อนำโมเดล AI นี้มาจำลองชีวิตและบุคลิกภาพของสัตว์ และทำให้โครงกระดูกของสัตว์สามารถตอบคำถามได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนข้อมูลพื้นฐาน (Base Layer) ในการให้คำตอบของคำถามที่ผู้เยี่ยมชมถามเข้ามา
โครงกระดูกนกโดโด้สามารถสื่อสารแบบ 2 ทางกับผู้เยี่ยมชม ด้วยภาษาของมนุษย์มากถึง 20 ภาษา ตามข้อมูลที่ให้โดยนักพัฒนา ผ่านเสียงที่พยายามทำให้เข้ากับลักษณะของตัวสัตว์มากที่สุด โดยสามารถตอบคำถามของมนุษย์ได้ เช่น เมื่อได้รับคำถามว่าทำไมนกโดโด้จึงสูญพันธุ์ มันก็ตอบว่า “การเสื่อมโทรมของเผ่าพันธุ์โดโด้ของฉัน เป็นเรื่องราวที่เรียบง่ายแต่เป็นโศกนาฏกรรม ชีวิตบนเกาะมอริเชียสเป็นชีวิตที่สุขสงบสุขจนกระทั่งช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 16 เมื่อมนุษย์เดินทางมาถึงเพื่อตั้งถิ่นฐาน” รวมไปถึงมันยังสามารถพิจารณาประเด็นทางจริยธรรม เมื่อมนุษย์ตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรหากนักวิทยาศาสตร์ต้องการโคลนให้นกโดโด้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้มีเพียงโครงกระดูกนกโดโด้เท่านั้นที่สามารถพูดคุยกับผู้เข้าเยี่ยมชมได้ด้วยความสามารถของ AI แต่ยังได้มีการนำไปใช้กับสัตว์อื่น ๆ ด้วย เช่น นาร์วาฬ ผีเสื้อ ตุ้นปากเป็ด หรือแม้แต่แมลงสาบ
อย่างไรก็ตาม แจ็ก แอชบี (Jack Ashby) ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเคมบริดจ์ อธิบายว่า ภาษาที่โครงกระดูกในพิพิธภัณฑ์จะตอบโต้นี้ ยังมีข้อจำกัดเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ตอบคำถามที่ไม่เหมาะสม หรือคำหยาบคาย แต่เขาเชื่อว่า AI จะเป็นวิธีใหม่ในการโต้ตอบกับผู้เยี่ยมชมและถือเป็นวิธีการที่มีคุณค่ามาก เพราะโดยปกติแล้วพิพิธภัณฑ์จะเป็นผู้เลือกเนื้อหาที่คิดว่าสำคัญให้ผู้เยี่ยมชมทราบเอง แต่ด้วยวิธีการนี้ มันจะทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเลือกถามคำถามที่ตัวเองสนใจได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้สัตว์เหมือนมีชีวิตชีวาขึ้นมา แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์แบบปกติ
เทคโนโลยียังไม่ได้เปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เป็นการทดลองใช้เป็นระยะเวลา 1 เดือน ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน 2024 จากนั้นพิพิธภัณฑ์จะวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น คำตอบและประเภทของการสนทนาที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาแผนการนำมาใช้งานต่อไปในอนาคต
ที่มาข้อมูล APvideohub
ที่มารูปภาพ APvideohub
ข่าวแนะนำ