TNN LiDAR เลเซอร์ทำให้ลมมองเห็นได้ ! เพื่ออรรถรสตอนดูแข่งเรือใบ America's Cup ครั้งที่ 37 ที่สเปน

TNN

Tech

LiDAR เลเซอร์ทำให้ลมมองเห็นได้ ! เพื่ออรรถรสตอนดูแข่งเรือใบ America's Cup ครั้งที่ 37 ที่สเปน

LiDAR เลเซอร์ทำให้ลมมองเห็นได้ ! เพื่ออรรถรสตอนดูแข่งเรือใบ America's Cup ครั้งที่ 37 ที่สเปน

รายการแข่งขันเรือใบอเมริกาคัพ (America’s Cup) นำเทคโนโลยีเลเซอร์มาใช้เพื่อเก็บข้อมูลลมก่อนทำกราฟิกแสดงผ่านการถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรก

ลมเป็นสิ่งสำคัญทั้งในด้านพลังงานและการใช้ชีวิต รวมถึงการแข่งขันกีฬาอย่างเรือใบด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากฝีมือผู้เข้าแข่งขันแล้ว กระแสลมก็เป็นสิ่งที่สามารถเป็นตัวพลิกเกมในการแข่งได้ด้วยเช่นกัน แต่กระแสลมเป็นสิ่งที่มีแต่ผู้เข้าแข่งขันเท่านั้นที่รับรู้ คนดูจึงอาจไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น


ด้วยเหตุนี้ รายการแข่งขันเรือใบอเมริกาคัพ (America’s Cup) จึงได้ใช้เลเซอร์มาเก็บข้อมูล ก่อนทำภาพเสมือนเพื่อให้คนทั่วโลกที่รับชมผ่านการถ่ายทอดสดได้เห็นกระแสลมไปพร้อม ๆ กับผู้เข้าแข่งขันเป็นครั้งแรก


เลเซอร์วัดลมเพื่อสร้างภาพจำลองในการแข่งเรือใบ

เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการจับมือระหว่างเจ้าภาพ กับบริษัทแคปเจมีนี (Capgemini) ผู้ให้บริการสารสนเทศจากฝรั่งเศส โดยใช้ไลดาร์ (LiDAR) หรือเซนเซอร์วัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ และระบบประมวลผลเพื่อแสดงภาพเสมือนผสม (Augmented Reality: AR) และภาพกราฟิกเสมือน (Virtual Reality: VR) แบบเรียลไทม์ระหว่างการถ่ายทอดสดการแข่งขันเรือใบ


โดยแคปเจมีนีได้ติดตั้งชุด LiDAR ทั่วแนวสนามที่มีพื้นที่แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาว 3.5 กิโลเมตร และกว้างสูงสุด 1.5 กิโลเมตร ซึ่ง LiDAR แต่ละตัวจะวัดความเร็วลมทุก ๆ 1.5 เมตร ตามแนวสนามแข่งขันเรือใบ


ซึ่ง LiDAR แต่ละตัวจะสามารถครอบคลุมแนววัดยาวเฉลี่ย 6.5 กิโลเมตร สูงสุด 12 กิโลเมตร รองรับความเร็วลมสูงสุด 38 เมตรต่อวินาที หรือ 73 น็อต หรือ 136.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 0.1 เมตรต่อวินาที


ข้อมูลจาก LiDAR รวมถึงเซนเซอร์ที่ติดตั้งตามทุ่นในแนวพื้นที่แข่งขัน และเรือใบแต่ละลำ จะนำมาประมวลผลรวมกันด้วยระบบโซลูชันของบริษัทที่เรียกว่า วินด์ไซด์ ไอคิว (WindSight IQ) ก่อนสร้างภาพจำลองทิศทาง ความเร็วลมเป็นภาพกราฟิกสีซ้อนทับกับภาพการถ่ายทอดสดต่อไป


เทคโนโลยีกับการถ่ายทอดสดเรือใบ

การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการจัดการแข่งขัน เนื่องจากข้อมูลจากแคปเจมีนีระบุว่าร้อยละ 84 ของกลุ่มสำรวจที่เป็นแฟนกีฬารู้สึกได้รับประสบการณ์การดูที่เพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 77 ของผู้ชมกลุ่มเจนแซด (Gen Z) และร้อยละ 75 ของเจนวาย (Gen Y) นั้นชอบดูการแข่งขันผ่านการถ่ายทอดสดมากกว่าดูที่งานแข่งด้วยเช่นกัน


โดยนอกจากผู้ชมแล้ว ผู้จัดงานและผู้จัดการของแต่ละผู้เข้าแข่งขันยังได้รับข้อมูลชุดเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งทำให้การแข่งขันมีข้อมูลที่มีมิติมากขึ้น รวมถึงยังทำให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถปรับแนวทางการแล่นเรือใบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมการแข่งขันนั้นเข้มข้นและน่าสนใจมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย


ทั้งนี้ การแข่งขันเรือใบอเมริกาคัพ (America's Cup) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - 27 ตุลาคม ซึ่งนับเป็นการแข่งขันเรือใบที่เก่าแก่ที่สุดในโลกรายการหนึ่งที่ยังคงจัดการแข่งขันในปัจจุบัน ณ กรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยใช้เรือที่เรียกว่า เอซีเซเว่นตี้ไฟฟ์ (AC75) สำหรับผู้เข้าแข่งขันทุกคน โดย AC75 แต่ละลำ มีความยาว 23 เมตร น้ำหนักมากกว่า 6 ตัน และแล่นบนน้ำด้วยแผ่นฟอยล์ใต้โครงเรือ ทำให้ได้ความเร็วกว่า 50 น็อต หรือ 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ว่าจะมีกระแสลมหนุนเพียง 12 น็อต หรือ 22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ตาม




ข้อมูล Capgemini, Reuters, IoT World Today, America's Cup

ภาพ Capgemini


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง