เทคโนโลยีฟื้นฟูการเคลื่อนไหว เพื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
สตาร์ตอัปจากประเทศอังกฤษ พัฒนาอุปกรณ์สุดล้ำ สำหรับใช้ในการฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยพัฒนาให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ด้วย
นิวบอนด์ (Neubond) บริษัทสตาร์ตอัปภายใต้มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) พัฒนาอุปกรณ์ช่วยพื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยโรคสโตรก (Stroke) หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว ให้สามารถกลับมาขยับได้มากขึ้น
โดยทีมนักวิจัย ได้ทำการพัฒนาต้นแบบของอุปกรณ์ในระยะแรก เป็นอุปกรณ์แบบสวมใส่คล้ายนาฬิกาข้อมือ ที่สามารถพันไว้รอบ ๆ แขน อุปกรณ์จะฝังอุปกรณ์ตรวจจับ และอิเล็กโทรด (Electrode) หรือตัวนำไฟฟ้าไว้ภายในโดยจะส่งสัญญาณไปกระตุ้นเส้นประสาทของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ
ในการทำงานเบื้องต้น ตัวอุปกรณ์จะเชื่อมต่อระหว่างการกระตุ้นประสาทสัมผัส กับกิจกรรมที่เกิดขึ้นของกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้เกิด นิวโรพลาสติกซิตี (Neuroplasticity) หรือความสามารถของสมอง ในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้สมองเชื่อมโยงกับแขนขาได้ดีขึ้น และเพิ่มการควบคุมการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นด้วย
โดยหนึ่งในคนไข้กลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการทดลองใช้อุปกรณ์ตัวนี้ คือ ลิซ่า วินเซนต์ (Lisa Vincent) ผู้ป่วยวัย 52 ปี ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองเมื่อสี่ปีก่อน ซึ่งทำให้แขนซ้ายของเธอไม่สามารถขยับได้ วินเซนต์ได้เข้าร่วมการทดสอบกับนักวิจัยมาประมาณสองเดือน และทำการทดลองไปทั้งสิ้นแปดครั้งโดยใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งเธอเผยว่า อุปกรณ์ช่วยรักษาอาการเกร็งของแขนซ้ายของเธอ ให้สามารถงอได้มากขึ้น
สำหรับเป้าหมายต่อไปของบริษัท คือการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ตัวนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยจะเริ่มการทดลองใหม่ในเดือนมกราคม 2025 ที่โรงพยาบาลชาริ่งครอส ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ร่วมกับผู้ป่วยอีก 20 ราย ก่อนจะขอใบรับรองเพื่อนำออกสู่ท้องตลาดต่อไป
ทั้งนี้บริษัทหวังว่าในอนาคตอุปกรณ์ตัวนี้ จะสามารถช่วยยกระดับชีวิตของผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ด้วยอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้ทุกที่ และสามารถผสานเข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก reutersconnect
ข่าวแนะนำ