แอนตาร์กติกเขียวขึ้น ผลกระทบจากโลกร้อน เพิ่ม 1000% ใน 35 ปี
ปี 1986 คาบสมุทรแอนตาร์กติกมีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า 1 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่ในปี 2021 เพิ่มขึ้นมากกว่า 1000%
คาบสมุทรแอนตาร์กติกกำลังเริ่มกลายเป็นสีเขียว เนื่องจากการเติบโตของพืชพรรณอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้น้ำแข็งละลาย โดยจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ มหาวิทยาเฮอริฟอร์ดเชียร์ ร่วมกับการสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ (British Antarctic Survey) สหราชอาณาจักร พบว่าในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ของคาบสมุทรแอนตาร์กติกตอนเหนือมีพืชพรรณสีเขียวซึ่งส่วนใหญ่เป็นมอสเพิ่มขึ้นมากกว่า 1000%
การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประเมินว่าว่าภูมิประเทศของคาบสมุทรแอนตาร์กติกเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ทั้งนี้ในปี 1986 คาบสมุทรแอนตาร์กติกมีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า 1 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่ในปี 2021 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่งานวิจัยนี้ทำการวิเคราะห์ พบว่าพืชพรรณได้ปกคลุมพื้นที่ในคาบสมุทรแอนตาร์กติกประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร หรือก็คือเทียบเท่าสนามฟุตบอลประมาณ 2,000 สนาม นอกจากนี้อัตราการเพิ่มขึ้นนั้นเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีสุดท้ายของปีที่ศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ดัชนีชี้วัดอุณหภูมิหลายแหล่งทั่วโลกต่างรายงานว่าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เช่น องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NOAA) รายงานเมื่อปี 2021 ว่า 5 อันดับปีที่อากาศร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมาตั้งแต่ปี 1850 คือ ปี 2016 2020 2019 2017 และ 2015 ตามลำดับ
โทมัส โรแลนด์ (Thomas Roland) นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์และผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้กล่าวว่า ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของคาบสมุทรแอนตาร์กติกยังคงปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็ง มีพืชกระจายอยู่เพียงเล็กน้อย แต่พืชจำนวนเล็กน้อยในปัจจุบันนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ถิ่นทุรกันดาร (Wilderness) อย่างคาบสมุทรแอนตาร์กติกก็ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เรา
นอกจากนี้ ออลลี่ บาร์ตเล็ตต์ (Olly Bartlett) นักภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเฮอริฟอร์ดเชียร์ ผู้เขียนร่วม ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ว่า เมื่อมอสขยายพันธู์ เติบโต และตาย พวกมันก็จะช่วยสร้างดินที่ทำให้พืชชนิดอื่น ๆ เติบโตและแพร่กระจายในบริเวณนี้ได้ง่ายขึ้น สิ่งนี้เพิ่มความเสี่ยงที่พืชต่างถิ่นหรือสายพันธุ์ที่รุกรานเริ่มขยายตัวเข้ามา ซึ่งอาจถูกพามาโดยนักท่องเที่ยวหรือนักวิทยาศาสตร์
ทีมวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่าผลลัพธ์ของการศึกษานี้ควรกระตุ้นให้นักวิจัยอื่น ๆ มีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ทำให้เกิดพืชพรรณขึ้นทั่วคาบสมุทรได้อย่างไร
โรแลนด์กล่าวเสริมว่า "ผลการค้นพบของเรา ทำให้เกิดความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของคาบสมุทรแอนตาร์กติกและทวีปโดยรวม ดังนั้นเพื่อปกป้องแอนตาร์กติก เราต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และระบุให้ชัดเจนว่าต้นเหตุของปรากฏการณ์นี้คืออะไรกันแน่”
การศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2024
ที่มาข้อมูล Climatecentral, Nature, IFLScience
ที่มารูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ