TNN ค้นพบ Stem Cell ตัวใหม่ ! ซ่อมหลอดเลือด เนื้อเยื่อ เสริมภูมิคุ้มกัน

TNN

Tech

ค้นพบ Stem Cell ตัวใหม่ ! ซ่อมหลอดเลือด เนื้อเยื่อ เสริมภูมิคุ้มกัน

ค้นพบ Stem Cell ตัวใหม่ ! ซ่อมหลอดเลือด เนื้อเยื่อ เสริมภูมิคุ้มกัน

ทีมนักวิจัยจากออสเตรเลียค้นพบ “เอ็นโดแม็ก โปรเจนิเตอร์” (EndoMac progenitors) เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ชนิดใหม่ ที่มีศักยภาพในการซ่อมแซมหลอดเลือด เนื้อเยื่อ และป้องกันระบบภูมิคุ้มกัน

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยการแพทย์แห่งออสเตรเลียใต้ (SAHMRI) ได้ค้นพบเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า “เอ็นโดแม็ก โปรเจนิเตอร์” (EndoMac progenitors) ซึ่งมีศักยภาพในการซ่อมแซมหลอดเลือดและเนื้อเยื่อ เพราะสามารถพัฒนาเป็นทั้งเซลล์บุผนังหลอดเลือด (endothelial cells) ที่สร้างหลอดเลือด และเซลล์แมกโครฟาจ (macrophages) ที่ทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและป้องกันระบบภูมิคุ้มกัน


นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์มานานกว่า 100 ปีว่ามีเซลล์ ที่มีความสามารถดังกล่าว แต่เพิ่งจะได้รับการยืนยันผ่านการวิจัยครั้งนี้ ที่ใช้หนูทดลองในการทดสอบและพบเซลล์เหล่านี้ ที่ผนังชั้นนอกของหลอดเลือดใหญ่ (aorta) ของหนูโตเต็มวัย 


ดร. ซานูรี ลีย์อานจ์ (Sanuri Liyange) นักวิจัยโครงการนี้ และทีมของเธอประสบความสําเร็จในการแยกเซลล์เหล่านี้ออกจากหนู เพาะเลี้ยงเซลล์ และสังเกตการแบ่งตัวของเซลล์ เซลล์เหล่านี้จะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายเกิดการบาดเจ็บหรือมีการไหลเวียนเลือดที่ไม่ดี ทำให้เกิดการขยายตัวและช่วยในการซ่อมแซม โดยการทดสอบในหนูที่เป็นโรคเบาหวานแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาบาดแผลที่น่าทึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูได้ตามปกติ อาจนำไปสู่การปฏิวัติการรักษาโรคต่าง ๆ ในอนาคต


สิ่งที่ทำให้ EndoMac progenitors แตกต่างจาก stem cell อื่น ๆ คือ การไม่มี “self markers” หรือโมเลกุลบนพื้นผิวของเซลล์นิวเคลียสทุกเซลล์ในร่างกาย ซึ่งจะมีความแตกต่างในแต่ละคน เพื่อเป็นเครื่องหมายที่ส่งสัญญาณต่อระบบภูมิคุ้มกันว่า เซลล์ใดที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เซลล์ใดเป็นสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก


การที่ EndoMac progenitors ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าวช่วยลดการกระตุ้นการต่อต้านของร่างกายเมื่อนำไปปลูกถ่าย ทำให้มันมีศักยภาพในการใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปฏิเสธจากระบบภูมิคุ้มกัน


ความเข้าใจเกี่ยวกับแมกโครฟาจ (Macrophages)

Macrophages คือเซลล์ภูมิคุ้มกันแรกเริ่ม ประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงพัฒนาการของตัวอ่อน (embryonic development) มีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เนื้อเยื่อส่วนใหญ่จะยังคงรักษาเซลล์ภูมิคุ้มกันนี้ไว้ ด้วยการแบ่งเซลล์เพิ่มเป็นครั้งคราวเพื่อรักษาภูมิคุ้มกันของร่างกาย


นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า เซลล์ต้นกำเนิดที่หมุนเวียนอยู่ในเลือด สามารถสร้าง macrophages ขึ้นใหม่ได้ตลอดช่วงวัยผู้ใหญ่ สอดคล้องกับการค้นพบ EndoMac progenitors ครั้งล่าสุดนี้ ที่ชี้ให้เห็นว่าเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน ที่มีหน้าที่ผลิต macrophages จะถูกฝังอยู่ในหลอดเลือดใหญ่ของหัวใจในช่วงพัฒนาการเริ่มต้น และเมื่อเติบโตขึ้น เซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้จะสร้าง macrophages ใหม่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย


อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันท้าทายความเชื่อในอดีตที่ว่า Macrophages เกิดขึ้นจากไขกระดูก เนื่องจากการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า เซลล์ต้นกำเนิดที่มาจากไขกระดูกอาจจำกัดแค่เฉพาะบางเนื้อเยื่อ เช่น ลำไส้ ผิวหนัง และหัวใจ


ขณะที่นักวิจัยหลายคนในขณะนี้เสนอว่า Macrophages ในผู้ใหญ่อาจมาจากเซลล์ต้นกำเนิดในช่วงแรกเริ่มของชีวิตที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน แน่นอนว่าทฤษฎีนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง แต่การค้นพบ EndoMac progenitors ได้ช่วยสนับสนุนทฤษฎีที่ว่านี้


ขณะนี้ นักวิจัยกำลังขยายการศึกษานี้ไปสู่การทดสอบในเนื้อเยื่อมนุษย์ โดยคาดว่าจะทราบผลการวิจัยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านการรักษาและการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering

ที่มารูปภาพ Freepik

ข่าวแนะนำ