Google ประกาศลงทุนในไทย 35,000 ล้านบาท สร้างงาน 14,000 ตำแหน่ง
Google ประกาศลงทุนในไทย 35,000 ล้านบาท ตั้ง Data Center-Cloud Region สร้างงาน 14,000 ตำแหน่ง
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 30 กันยายน 2567 – วันนี้ Google ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย โดยวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในกรุงเทพฯ และชลบุรี ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการในการใช้งานคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก นอกจากนี้ Google ยังได้เดินหน้าต่อยอดโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเติบโตในเศรษฐกิจ AI และช่วยให้คนไทยทุกคนเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลและ AI ได้มากขึ้นตามพันธกิจ “Leave No Thai Behind”
ณ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รูธ โพรัท (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนของ Alphabet และ Google เปิดเผยว่าการประกาศครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานร่วมกันกับรัฐบาลไทย เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยข้อตกลงนี้ครอบคลุมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ การวางหลักนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
การลงทุนของ Google มูลค่าประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคระดับเวิลด์คลาสคาดว่าจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาทแก่ GDP ของประเทศไทย ภายในปี 2572 และสร้างงาน 14,000 ตำแหน่งต่อปีโดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2572 จากการศึกษาของบริษัท Deloitte โดยโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลของ Google ในกรุงเทพฯ และชลบุรีจะช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้งาน Google Cloud และ นวัตกรรม AI อีกทั้งบริการต่างๆ ของ Google ซึ่งเป็นที่นิยม เช่น Google Search, Google Maps และ Google Workspace ที่องค์กรต่างๆ ประชาชนคนไทย ตลอดจนผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกใช้ในชีวิตประจำวัน
การประกาศแผนการลงทุนในวันนี้ต่อเนื่องมาจากประกาศของ Google Cloud เมื่อปี 2565 ที่วางแผนจะเปิดตัว Cloud Region ในประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ทอัพ ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร AI/ML (Machine Learning) และการประมวลผลแบบออนดีมานด์ได้ง่ายและเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้บริการมีประสิทธิภาพสูงและมีความหน่วงต่ำ รวมถึงมอบเครื่องมือในการควบคุมหลักๆ แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถดูแลรักษาทั้งในเรื่องความปลอดภัยสูงสุด สถานที่ตั้งของข้อมูล และมาตรฐานการปฏิบัติงาน รวมถึงข้อกำหนดของที่เก็บข้อมูลเฉพาะ
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “บุคลากรที่มีทักษะความสามารถ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของผู้นำในอุตสาหกรรมอย่าง Google จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลไทยรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของ Google ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่คนไทยหลายล้านคน รวมถึงแผนล่าสุดในการมอบเครื่องมือและความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกแห่งอนาคตให้แก่ประชาชนชาวไทยจำนวนมากขึ้น โดยการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) และ Cloud Region ของ Google ในกรุงเทพฯ และชลบุรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญในด้าน Cloud Computing และ AI นั้นสอดคล้องกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) ของรัฐบาลเป็นอย่างดี การผนึกกำลังกันนี้จะช่วยเร่งการพัฒนาบริการดิจิทัลเชิงนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน”
รูธ โพรัท (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนของ Alphabet และ Google กล่าวว่า “การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ Google ที่ประเทศไทยนับเป็นหมุดหมายสำคัญในการขยายโอกาสให้แก่คนไทยในยุคดิจิทัล โดยการลงทุนนี้จะช่วยส่งเสริมธุรกิจไทย นวัตกร และชุมชนต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากความสามารถของเทคโนโลยีคลาวด์และ AI นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นของ Google ในการทำให้ทักษะด้านดิจิทัลเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปูทางไปสู่อนาคตที่สดใสของยุคดิจิทัลที่ผู้คนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน”
การลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการด้านความรู้เท่าทัน AI (Al Literacy)
ในปัจจุบันที่ AI เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ การให้ความรู้และเพิ่มพูนทักษะให้คนไทยสามารถใช้เทคโนโลยีนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก อีกไม่นาน Google จะครบรอบ 13 ปีในประเทศไทย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Google ได้ฝึกอบรมคนไทยไปมากกว่า 3.6 ล้านคน ทั้งนักเรียน นักการศึกษา ผู้ประกอบการ SME และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้
โดยเมื่อไม่นานมานี้ Google ได้เปิดตัวหลักสูตรใหม่อย่าง AI Essentials และยังมีโครงการ Samart Skills ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะที่สำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือ AI และการใช้งาน นอกจากนี้ยังมี Gemini Academy ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมทักษะด้าน AI ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ครูใช้งาน AI อย่างปลอดภัย ยกระดับความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน โดยโครงการนี้ให้การฝึกอบรมนักการศึกษาไทยไปแล้ว 20,000 คนนับตั้งแต่ปี 2566
เพื่อเป็นการต่อยอดความมุ่งมั่นในการผลักดันประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ระบบดิจิทัล Google ยังได้วางแผนลงทุนและสนับสนุนทักษะด้าน AI ในประเทศไทยผ่านองค์กรในประเทศ โดยตั้งเป้าส่งเสริมคนไทยจำนวน 150,000 คนภายในปี 2569
การพัฒนา LLM ให้เข้าใจบริบทของภาษาไทยมากยิ่งขึ้น
Google ยังคงสานต่อ Project SEALD (Southeast Asian Languages in One Network Data) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ AI Singapore ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติของสิงคโปร์ ในการทำให้ AI ครอบคลุม เข้าถึงได้ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อผู้ใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพัฒนาความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจภาษาต่างๆ ทั่วโลกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide) เพื่อให้มั่นใจว่าความก้าวหน้าทาง AI มีความเท่าเทียมตั้งแต่แรกเริ่ม Google จึงได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยในการเผยแพร่ชุดข้อมูลภาษาไทยแบบโอเพนซอร์สเพื่อใช้ในการฝึกโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model - LLM) ซึ่งจะช่วยพัฒนาโมเดลภาษาให้เข้าใจบริบททางวัฒนธรรมและทรงประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่มาของข้อมูล Google Thailand
ข่าวแนะนำ