นักวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ติดตามการรับรู้ของทารก หวังช่วยเตือนสมาธิสั้น
นักวิจัยในสหราชอาณาจักร พัฒนาอุปกรณ์ที่จะช่วยศึกษาการทำงานของสมองเด็กทารก เพื่อสังเกตเรื่องการรับรู้และทักษะสังคมต่าง ๆ โดยหวังว่าจะใช้ช่วยจับสัญญาณของโรคออทิสติกและสมาธิสั้นได้ไวขึ้น
นักวิจัยพัฒนาอุปกรณ์หมวกอัจฉริยะ ที่สามารถตรวจจับการทำงานของสมองเด็กทารกในเรื่องของการรับรู้ โดยหวังว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ ในการช่วยระบุสัญญาณเริ่มต้นของออทิสติกและโรคสมาธิสั้น
อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นฝีมือของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย University College London ในสหราชอาณาจักร ตัวอุปกรณ์มีลักษณะคล้ายกับหมวกสวมคลุมศีรษะ ที่สามารถใช้งานได้กับเด็กทารก อายุตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไป
ตัวหมวกต่อขึ้นจากวัสดุทรงหกเหลี่ยมจำนวนมาก ซึ่งจะส่องแสงเข้าสู่ศีรษะ และวัดปริมาณแสงที่สะท้อนกลับจากสมอง และด้วยความแตกต่างของระดับแสงที่สะท้อนกลับจากสมอง จึงทำให้นักวิจัย สามารถสร้างแผนที่ได้ว่าการทำงานของสมองเกิดขึ้น ณ จุดใดบ้าง
สำหรับการใช้งาน นักวิจัยจะสวมหมวกลงไปบนศีรษะของเด็ก แล้วทำการทดลองกระตุ้นด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การเล่นกับเด็ก การพูดคุย การปล่อยให้เด็กแก้ปัญหาของเล่น โดยพวกเขาค้นพบว่า บริเวณ เปลือกสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) จะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น เมื่อเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งบ่งบอกว่าความฉลาดทางอารมณ์ เริ่มพัฒนาตั้งแต่อายุเพียง 5 เดือนเท่านั้น
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบว่า สมองบางส่วนจะตื่นตัวมากขึ้น เมื่อทารกหรือเด็ก ดูผู้คนร้องเพลง หรือพูดคุยกับพวกเขา มากกว่าเวลาที่พวกเขาดูของเล่นทำให้เห็นถึงความสามารถของสมอง ในการตอบสนองต่อสังคมอีกด้วย
ทั้งนี้ทีมวิจัยหวังว่าสักวันหนึ่ง ผลงานที่พัฒนาขึ้น จะสามารถช่วยเด็กที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาทและสติปัญญาได้ เช่น อาจจะนำหมวกนี้ไปใช้กับเด็กทารก ที่มีประวัติครอบครัวเป็นออทิสติก หรือสมาธิสั้น ซึ่งอาจจะทำให้สามารถสังเกตสัญญาณได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าสมองของเด็กอาจจะมีการพัฒนาที่แตกต่างออกไป และทำให้เด็กได้รับการช่วยเหลือไวขึ้น
ข้อมูลจาก apvideohub
ข่าวแนะนำ