TNN "กาแล็กซีชนกัน" NASA เผยภาพใหม่จากกล้องเจมส์ เวบบ์

TNN

Tech

"กาแล็กซีชนกัน" NASA เผยภาพใหม่จากกล้องเจมส์ เวบบ์

กาแล็กซีชนกัน NASA เผยภาพใหม่จากกล้องเจมส์ เวบบ์

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จับภาพการชนกันของกาแล็กซี Arp 107 ที่อยู่ห่างโลกประมาณ 465 ล้านปีแสง และบอกว่าเหมือนกาแล็กซีที่กำลัง "ยิ้ม"

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) จับภาพกาแล็กซี 2 กาแล็กซีที่กำลังชนกัน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของ JWST บรรยายว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ภาพถ่ายที่ได้ออกมา ดูแล้วคล้ายกับภาพของดวงตา 2 ข้างและโครงสร้างเป็นรอยโค้ง จึงทำให้เหมือนกาแล็กซีนี้กำลัง "ส่งยิ้ม" ให้กับจักรวาล 


กาแล็กซีที่ชนและกำลังรวมกันนี้ชื่อว่า เออาร์พี 107 (Arp 107) ตั้งอยู่ในกลุ่ม ดาวสิงโตเล็ก (Leo Minor) อยู่ห่างจากโลกเราไปประมาณ 465 ล้านปีแสง เป็นการรวมกันของกาแล็กซีกังหันขนาดใหญ่ ชื่อ PGC 32620 ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของรูป และกาแล็กซีทรงรีขนาดเล็กกว่า ชื่อ PGC 32628 อยู่ทางด้านซ้ายของรูป นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเกิดการชนกันเมื่อหลายร้อยล้านปีที่แล้ว


กาแล็กซีชนกัน NASA เผยภาพใหม่จากกล้องเจมส์ เวบบ์ Arp 107 จากกล้องทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ภาพจาก NASA

JWST จับภาพดังกล่าวนี้ได้โดยใช้กล้อง NIRCam (Near Infrared Camera หรือกล้องอินฟราเรดใกล้) และกล้อง MIRI (Mid InfraRed Instrument หรือ กล้องอินฟาเรดกลาง) โดยข้อมูลที่ได้จากกล้อง NIRCam จะแสดงให้เห็นโครงสร้างคล้ายสะพานสีขาวโปร่งแสงของดาวฤกษ์กลุ่มที่มีอายุมาก และก๊าซที่ถูกดึงออกมาจากกาแล็กซีทั้ง 2 ระหว่างกระบวนการชนกัน ส่วนข้อมูลที่ได้จากกล้อง MIRI แสดงให้เห็นแสงเป็นสีส้มและแดง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีฝุ่นและดาวฤกษ์กำลังก่อตัว นอกจากนี้ MIRI ยังแสดงให้เห็นถึงจุดสว่างขนาดใหญ่ของกาแล็กซีกังหัน ซึ่งนั่นคือจุดที่มีหลุมดำมวลยิ่งยวดตั้งอยู่


การชนกันของกาแล็กซีเหมือนที่กำลังเกิดกับ Arp 107 สามารถกระตุ้นให้เกิดดาวฤกษ์ใหม่ เนื่องจากการชนกันสามารถทำให้เกิดแหล่งเก็บก๊าซใหม่ จนกระทั่งก๊าซบีบอัดกันจนมีความหนาแน่นสูง นำไปสู่การเกิดดาวฤกษ์ใหม่ แต่ในบางกลับกัน ในบางกรณีการชนกันของกาแล็กซีก็อาจยับยั้งการเกิดดาวฤกษ์ใหม่เช่นกัน เนื่องจากอาจทำให้ก๊าซกระจายตัวออกไป จนขาดองค์ประกอบที่จะสร้างดาวฤกษ์ใหม่ 


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นกาแล็กซี Arp 107 ก่อนหน้านี้ในปี 2005 องค์การนาซา (NASA) ก็เคยสังเกตเห็นโดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) แต่อย่างไรก็ตามการจับภาพได้เมื่อปี 2005 ได้ภาพที่ไม่ละเอียดเท่ากับที่ JWST ทำได้


นักวิทยาศาสตร์คาดว่า กาแล็กซีที่กำลังชนกันอย่าง Arp 107 ที่ JWST สังเกตเห็นได้นี้จะดำเนินต่อไปอีกหลายร้อยล้านปีจึงจะควบรวมกันเสร็จสมบูรณ์ และเมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะได้ผลลัพธ์เป็นกาแล็กซีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีรูปร่างแปลกตา 


ที่มาข้อมู Webbtelescope, ESA, Space

ที่มารูปภาพ Webbtelescope

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง