TNN ตัวแปลงความร้อนจากร่างกายเป็นไฟฟ้า ทนทานแม้จะถูกยึดถึง 2,000 ครั้ง

TNN

Tech

ตัวแปลงความร้อนจากร่างกายเป็นไฟฟ้า ทนทานแม้จะถูกยึดถึง 2,000 ครั้ง

ตัวแปลงความร้อนจากร่างกายเป็นไฟฟ้า ทนทานแม้จะถูกยึดถึง 2,000 ครั้ง

อุปกรณ์แปลงความร้อนจากร่างกายเป็นไฟฟ้าที่สวมใส่ได้ ทนทานแม้จะถูกเจาะหรือดึงถึง 2,000 ครั้ง

ปัจจุบันผู้คนนิยมสวมใส่อุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อย่าง เครื่องมือติดตามสุขภาพ (fitness trackers) กันอย่างมาก แต่มักประสบปัญหาแบตเตอรี่หมดกลางคันบ่อยครั้ง 

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (the University of Washington) ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้คิดค้นอุปกรณ์แปลงความร้อนจากร่างกายเป็นไฟฟ้าที่ยืดหยุ่นและทนทาน แม้จะถูกเจาะหรือดึงถึง 2,000 ครั้ง และผู้คนสามารถสวมใส่ได้ เพื่อช่วยผลิตไฟฟ้าให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น แบตเตอรี่ เซนเซอร์ หรือ LED

นวัตกรรมนี้ทำงานเมื่อมีการสวมใส่อุปกรณ์บนร่างกาย ความร้อนจากผิวหนังจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าและสามารถใช้จ่ายไฟให้อุปกรณ์อื่นได้ทันที ดังเช่นที่มูฮัมหมัด มาลาคูตี (Mohammad Malakooti) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยวอชิงตันและนักวิจัยอาวุโสของโครงการกล่าว 

โดยตัวแปลงไฟฟ้าแบบสวมใส่ดังกล่าวประกอบไปด้วยโครงสร้างหลัก 3 ชั้นด้วยกัน ได้แก่:

1. เทอร์โมอิเล็กทริกเซมิคอนดักเตอร์ (thermoelectric semiconductors) ชั้นตรงกลาง ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า

2. วัสดุผสมพิมพ์ 3 มิติ (3D-printed composites) ขนาบข้างชั้นเซมิคอนดักเตอร์ ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการแปลงพลังงาน และลดน้ำหนักของอุปกรณ์

3. ลิควิดเมทัล (liquid metel) ที่เชื่อมต่อเซมิคอนดักเตอร์ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความนำไฟฟ้า และมีความสามารถซ่อมแซมตัวเองทางไฟฟ้า (electrical self-healing) นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการถ่ายเทความร้อนไปยังเซมิคอนดักเตอร์ทำให้การแปลงพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้วยองค์ประกอบนี้ ส่งผลให้มันสามารถสร้างไฟฟ้าจากความร้อนตามร่างกายที่มีความหนาแน่นของพลังงานค่อนข้างสูงที่ 115.4 ไมโครวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร (µW cm−2) ที่ระดับอุณหภูมิต่ำ 10 องศาเซลเซียส ทั้งยังมีความยืดหยุ่นทนทานอย่างมาก สามารถทํางานที่ระดับความเครียดทางกลศาสตร์ (strain) สูงถึงร้อยละ 230

อุปกรณ์นี้ไม่เพียงแปลงความร้อนจากร่างกายเป็นไฟฟ้าได้ แต่ยังสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ปล่อยความร้อนสูง อย่างเครื่องเซิร์ฟเวอร์หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ได้อีกด้วย 

โดยการนำตัวแปลงความร้อนนี้ไปติดตั้งตามเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวจะเป็นการ รีไซเคิลความร้อนเหลือทิ้งมาจ่ายไฟให้กับเซนเซอร์ต่าง ๆ เช่น เซนเซอร์วัดอุณหภูมิหรือความชื้น ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงาน และลดความวุ่นวายในการเดินสายไฟใหม่ และนอกจากประโยชน์ด้านการผลิตไฟฟ้า อุปกรณ์ดังกล่าว ยังช่วยลดความร้อนบนพื้นผิวได้อีกด้วย 

อุปกรณ์แปลงความร้อนจากร่างกายเป็นไฟฟ้าที่สามารถสวมใส่ได้นี้ยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา ซึ่งทีมงานวิจัยกำลังมุ่งวางรากฐานเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและทนทานมากยิ่งขึ้น  

ที่มาข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ University of Washington  

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง