TNN เตรียมปล่อย Europa Clipper สำรวจดวงจันทร์ยูโรปา ค้นหาสิ่งมีชีวิต

TNN

Tech

เตรียมปล่อย Europa Clipper สำรวจดวงจันทร์ยูโรปา ค้นหาสิ่งมีชีวิต

เตรียมปล่อย Europa Clipper สำรวจดวงจันทร์ยูโรปา ค้นหาสิ่งมีชีวิต

NASA เตรียมปล่อยยานอวกาศ Europa Clipper ในวันที่ 10 ตุลาคม 2024 ปลายทางคือดวงจันทร์ยูโรปา ของดาวพฤหัสบดี เป้าหมายเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิต

ยานอวกาศสำรวจดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาขององค์การนาซา (NASA) อย่าง ยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Clipper) มีกำหนดการปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 10 ตุลาคม 2024 เพื่อเดินทางไปยังดวงจันทร์ยูโรปา หนึ่งในดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี โดยมีเป้าหมายคือเพื่อค้นหาว่าดวงจันทร์ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งดวงนี้ มีปัจจัยที่จำเป็นสำหรับก่อเกิดสิ่งมีชีวิตหรือไม่


ยานอวกาศ Europa Clipper มีความสูงประมาณ 5 เมตร เมื่อแผงโซลาร์เซลล์ขยายออกจนสุดจะวัดความกว้างได้ประมาณ 30.5 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3,240 กิโลกรัมโดยไม่รวมเชื้อเพลิง ยานอวกาศลำนี้จะเดินทางขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดสเปซเอ็กซ์ ฟัลคอน เฮฟวี่ (SpaceX Falcon Heavy) ของบริษัทด้านอวกาศอย่างสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ของนาซา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา


ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจที่มีความทะเยอทะยานสูงมากของมนุษยชาติ โดยลอรี เลชิน (Laurie Leshin) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL) เปรียบเทียบว่าเป็น "มหาวิหารสมัยใหม่ (Modern Cathedral)" และ "ภารกิจแห่งยุคสมัย (Generational Quest)" 


โดยเธอกล่าวว่า “ฉันมักจะพูดถึงภารกิจลักษณะนี้ว่าเป็นมหาวิหารสมัยใหม่ มันคือภารกิจแห่งยุคสมัยของเรา นักวิทยาศาสตร์อย่างพวกเราใฝ่ฝันถึงภารกิจอย่าง Europa Clipper มามากกว่า 20 ปี พวกเราใช้เวลาก่อร่างสร้างภารกิจนี้มาแล้วเป็น 10 ปี และมันจะต้องใช้เวลาอีกเป็น 10 ปี เพราะว่ายูโรปาอยู่ไกลมาก ดังนั้นภารกิจนี้จึงถือเป็นการลงทุนและการแสวงหาระยะยาวมากจริง ๆ ซึ่งฉันก็ภูมิใจมากในฐานะมนุษยชาติที่เราเลือกที่จะบรรลุเป้าหมายอันยากลำบากและใช้ระยะยาวนานเช่นนี้”


นักวิทยาศาสตร์จะศึกษาเปลือกน้ำแข็งที่ปกคลุมดวงจันทร์ยูโรปา รวมถึงมหาสมุทรที่ซ่อนอยู่ด้านล่าง ตลอดจนองค์ประกอบและธรณีวิทยาของยูโรปา ทั้งนี้ ลอรี เลชิน อธิบายเพิ่มเติมว่าภารกิจนี้จะบินเข้าไปใกล้ดวงจันทร์ยูโรปา (Flybys) และจะโคจรอยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ตลอดภารกิจจะบินผ่านยูโรปา 49 ครั้ง ในขณะเดียวกันก็จะโคจรรอบดาวพฤหัส 80 รอบ 


อย่างไรก็ตามภารกิจนี้จะไม่ได้ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ยูโรปา แต่จะพยายามบินอยู่เหนือพื้นผิวของยูโรปาประมาณ 25 กิโลเมตร การบินผ่านแต่ละครั้งจะครอบคลุมพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทั้งซีกเหนือและซีกใต้ของยูโรปา ครอบคลุมตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้วดวงจันทร์ไปจนถึงเส้นศูนย์สูตร ทำให้สามารถทำแผนที่ยูโรปาได้เกือบสมบูรณ์ และคาดว่าจะเพียงพอที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจดวงจันทร์ยูโรปาได้ทั้งดวง


แต่อย่างไรก็ตาม กว่าจะได้ผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ของภารกิจนี้ก็อาจจะใช้เวลาสิบกว่าปี เนื่องจากกว่าจะเดินทางไปถึงยูโรปาคาดว่าจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ปี และกว่าจะได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ ทีมวิจัยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปีเลยทีเดียว



ที่มาข้อมูล APvideohub

ที่มารูปภาพ JPL.NASA

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง