TNN พบฟองก๊าซของดาวฤกษ์ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา 75 เท่า

TNN

Tech

พบฟองก๊าซของดาวฤกษ์ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา 75 เท่า

พบฟองก๊าซของดาวฤกษ์ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา 75 เท่า

นักดาราศาสตร์สวีเดนศึกษาการเคลื่อนที่แบบการพาความร้อนของดาวฤกษ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของดาวฤกษ์ เช่น ดวงอาทิตย์ มากยิ่งขึ้น

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส ประเทศสวีเดน ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array หรือ ALMA ซึ่งมีหอดูดาวยุโรปตอนใต้ (European Southern Observatory หรือ ESO) เป็นเจ้าของร่วม เพื่อถ่ายภาพดาวฤกษ์ชื่อ อาร์ โดราดัส (R Doradus) ทำให้ได้ข้อมูลอย่างละเอียด แสดงให้เห็น "ฟองก๊าซร้อน" ที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 75 เท่า การศึกษานี้ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของดาวฤกษ์ เช่น ดวงอาทิตย์ มากยิ่งขึ้น


พบฟองก๊าซของดาวฤกษ์ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา 75 เท่า


ข้อมูลเบื้องต้นของดาวฤกษ์ R Doradus

R Doradus เป็นดาวฤกษ์ยักษ์แดงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 350 เท่าของดวงอาทิตย์ ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวโดราโด (Dorado) ห่างจากโลกประมาณ 180 ปีแสง มวลของดาวยังใกล้เคียงกับมวลของดวงอาทิตย์ คาดว่าในอีก 5,000 ล้านปีข้างหน้า R Doradus น่าจะมีรูปร่างคล้ายกับดวงอาทิตย์ในปัจจุบัน ดังนั้นด้วยขนาดของดาวที่ใหญ่ และมีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ รวมถึงยังอยู่ใกล้โลก ทำให้เหมาะเป็นเป้าหมายในการสังเกตการณ์อย่างละเอียด 


พบฟองก๊าซของดาวฤกษ์ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา 75 เท่า


การเคลื่อนที่แบบพาความร้อนบนดาวฤกษ์และการศึกษาก่อนหน้า

ทั้งนี้ดาวฤกษ์โดยทั่วไปในจักรวาลจะผลิตพลังงานในแกนกลางของพวกมันผ่านปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่นิวเคลียสของอะตอมเบา 2 นิวเคลียสมารวมกันเป็นนิวเคลียสที่หนักกว่า และปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมา 


พลังงานนี้สามารถส่งไปยังพื้นผิวของดาวฤกษ์ได้ในรูปแบบฟองก๊าซร้อนจัดขนาดใหญ่ จากนั้นฟองก๊าซเหล่านี้จะเย็นตัวลงและจมลงไปในพื้นผิวดาวฤกษ์ เรียกกระบวนการนี้ว่าการพาความร้อน (Convection) ซึ่งระหว่างกระบวนการนี้ก็จะทำให้ธาตุหนัก เช่น คาร์บอน และไนโตรเจนที่เกิดในแกนกลางของดาวฤกษ์ ถูกกระจายไปทั่วดาว นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า การพาความร้อนนี้ ยังเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดลมดาวฤกษ์ (Stellar Wind) ซึ่งพัดพาเอาองค์ประกอบบนดาวฤกษ์ ให้กระจัดกระจายไปทั่วเอกภพ และก่อให้เกิดทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ใหม่ต่อไป


ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยศึกษาการเคลื่อนที่แบบพาความร้อนอย่างละเอียดจากดาวฤกษ์ดวงอื่น นอกเหนือจากดวงอาทิตย์ของเรา ดังนั้นนี่จึงนับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถถ่ายภาพดาวฤกษ์ดวงอื่นนอกเหนือจากดวงอาทิตย์ได้อย่างละเอียด เพียงพอที่จะศึกษาการเคลื่อนที่ของก๊าซที่มีลักษะเป็นฟองอยู่บนพื้นผิวดาวฤกษ์ได้


ผลการศึกษาของดาวฤกษ์ R Doradus

จากการศึกษาพบว่าโครงสร้างแบบเม็ดละเอียด (Granular Structure สื่อถึงฟองก๊าซ) ของดาวฤกษ์ R Doradus เคลื่อนที่ออกมาที่พื้นผิวและกลับลงไปยังแกนกลางของดาวฤกษ์เป็นวัฏจักร 1 เดือน ซึ่งเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ แต่ทีมนักวิจัยเปิดเผยว่ายังไม่ทราบเหตุผล


การค้นพบนี้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับกระบวนการพาความร้อนของดาวฤกษ์ (Stellar Convection) ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการแก่ตัวของดาวฤกษ์ รวมไปถึงการกระจายตัวของธาตุที่จำเป็นสำหรับการก่อตัวของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ดวงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งการค้นพบที่ทำให้มนุษยชาติก้าวเข้าใกล้ความเข้าใจต่อเอกภพอันไพศาลอีกหนึ่งก้าว


ความคิดเห็นของทีมวิจัย

วอเทอร์ เวลมิงส์ (Wouter Vlemmings) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส และหัวหน้าคณะนักวิจัยนี้ กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่พื้นผิวฟองก๊าซของดาวฤกษ์จริง ๆ ถูกแสดงออกมาได้ในลักษณะนี้ เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าข้อมูลจะมีคุณภาพสูงขนาดนี้ จนสามารถเห็นรายละเอียดมากมายของการพาความร้อนบนพื้นผิวดาวฤกษ์ได้”


ธีโอ คูรี (Theo Khouri) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมของการศึกษากล่าวว่า “การพาความร้อนทำให้เกิดโครงสร้างเม็ดละเอียด (Granular Structure) ที่สวยงามซึ่งมองเห็นได้บนพื้นผิวดวงอาทิตย์ แต่ถือเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นบนดาวฤกษ์ดวงอื่น แต่ด้วยเทคโนโลยีของ ALMA ตอนนี้เราสามารถมองเห็นโครงสร้างเม็ดละเอียด ที่เกิดจากการพาความร้อนได้โดยตรง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 75 เท่า ! และยังสามารถวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ขึ้นมาและกลับลงไปในผิวดาวฤกษ์ได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย”


การศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2024



ที่มาข้อมูล SciTechDaily, Nature

ที่มารูปภาพ Nature

ข่าวแนะนำ