TNN พบไวรัส 1,700 สายพันธุ์ ในธารน้ำแข็งประเทศจีน

TNN

Tech

พบไวรัส 1,700 สายพันธุ์ ในธารน้ำแข็งประเทศจีน

พบไวรัส 1,700 สายพันธุ์ ในธารน้ำแข็งประเทศจีน

ทีมนักวิจัยขุดค้นพบเศษดีเอ็นเอของไวรัสโบราณเกือบ 1,700 สายพันธุ์ ที่มีอายุกว่า 41,000 ปี อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง Guliya Glacier ในเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทีมนักวิจัยที่นำโดยมหาวิทยาลัย Ohio State University ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขุดค้นพบเศษดีเอ็นเอของไวรัสโบราณเกือบ 1,700 สายพันธุ์ ที่มีอายุกว่า 41,000 ปี และรอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศครั้งใหญ่ระดับโลกมาถึง 3 ครั้ง 


โดยทีมนักวิจัย พบเศษดีเอ็นเอเหล่านี้ อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง Guliya Glacier ในเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพบว่าไวรัส 3 ใน 4 เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่ถูกค้นพบ ทั้งนี้ทางนักวิจัยเตรียมศึกษาต่อ เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมไวรัสเหล่านี้ จึงสามารถปรับตัว จนมีชีวิตรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมาได้ 


ทั้งนี้ ก้อนน้ำแข็ง ที่ได้จากธารน้ำแข็งดังกล่าว เป็นทรัพยากรทางการวิจัยที่มีค่ามาก เพราะมีตัวอย่างน้อยมากในปัจจุบัน สำหรับจะใช้ตรวจสอบและวิจัยเกี่ยวกับเรื่องไวรัสและจุลินทรีย์ ซึ่งจากการตรวจสอบของนักวิจัยเบื้องต้นพบว่า ตัวแกนน้ำแข็งที่พบไวรัสดังกล่าว อยู่ลึกลงไปในธารนำแข็งราว 1,000 ฟุต หรือประมาณ 305 เมตร ซึ่งสามารถแบ่งช่วงของน้ำแข็งออกได้เป็น 9 ช่วง แต่ละช่วงแสดงถึงเวลาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สภาพอากาศเย็นเปลี่ยนไปเป็นอุ่นกว่า 3 รอบ (Cold-to-Warm cycles) ในช่วงราว 160 - 41,000 ปีที่ผ่านมา


นอกจากนี้ทางนักวิจัยยังได้สกัดดีเอ็นเอ จากแต่ละส่วนของน้ำแข็ง และใช้กระบวนการที่เรียกว่าการวิเคราะห์เมตาจีโนม (metagenomic analysis) เพื่อระบุสายพันธุ์ไวรัส ซึ่งได้ออกมามากถึง 1,700 สายพันธุ์ ตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น


ทั้งนี้ Jean-Michel Claverie ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Aix-Marseille ในประเทศฝรั่งเศส และผู้นำด้านการวิจัยในเรื่องนี้ แสดงความกังวลว่าตัวไวรัสที่ถูกกักขังไว้ อาจหลุดออกมาแพร่สู่คนได้ เนื่องจากภาวะโลกร้อน จนทำให้น้ำแข็งละลายอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวของไวรัสเหล่านี้ ที่สามารถมีชีวิตรอดมาได้อย่างยาวนาน ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่า ไวรัสที่แพร่เชื้อสู่สัตว์หรือมนุษย์ อาจจะยังคงแพร่เชื้อได้ภายใต้สภาพเดียวกัน เพราะจากการตรวจสอบไวรัส พบดีเอ็นเอของไวรัสที่แพร่เชื้อสู่สัตว์หรือมนุษย์ อยู่ในน้ำแข็งนี้ด้วยกันถึง 1 ใน 4 


ตามรายงานของศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาภูเขาแบบบูรณาการ International Center for Integrated Mountain Development (ICIMOD) ในปี 2023 คาดการณ์ว่าภายในปี 2100 ปริมาณธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยร้อยละ 30 - 50 อาจละลายหายไปจนหมด หากสภาพอากาศยังอุ่นขึ้นอีก 1.5 - 2 องศา


แหล่งที่มา : interestingengineering.com

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ