จีนเผยวิธีสกัดน้ำจากดินดวงจันทร์ ดิน 1 ตัน สกัดได้ 50 ลิตร
นักวิจัยจีนพัฒนาวิธีการสกัดน้ำจากดินดวงจันทร์ โดยศึกษาจากตัวอย่างที่ภารกิจฉางเอ๋อ-5 นำมายังโลกเมื่อปี 2020 พบว่าเมื่อให้ความร้อน ดินดวงจันทร์หลอมเหลว 1 กรัม สามารถสกัดเป็นน้ำได้ 51 - 76 มิลลิกรัม
เป้าหมายของมนุษย์ที่จะไปตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ ต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือต้องหาวิธีทำให้มนุษย์มีน้ำดื่ม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต ล่าสุดอาจจะมีอีกหนึ่งวิธีที่เข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้แล้ว เมื่อทีมนักวิจัยจากประเทศจีน เปิดเผยวิธีสกัดน้ำจากดินดวงจันทร์ ซึ่งอ้างว่าดินดวงจันทร์ 1 ตัน สามารถสกัดน้ำได้ประมาณ 50 ลิตร
นักวิจัยได้ศึกษาดินดวงจันทร์ที่ภารกิจฉางเอ๋อ-5 นำกลับมายังโลกเมื่อปี 2020 ด้วยการศึกษาผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน พบว่า แร่ธาตุบางชนิดในดินของดวงจันทร์ โดยเฉพาะแร่อิลเมไนต์ (Ilmenite (FeTiO3) แร่ออกไซด์ชนิดหนึ่ง เกิดเป็นแร่รองในหินอัคนีและหินแปรบางชนิด) สามารถกักเก็บไฮโดรเจนเอาไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการสัมผัสกับลมสุริยะเป็นเวลาหลายพันล้านปี ทั้งนี้เหตุผลที่แร่อิลเมไนต์มีปริมาณไฮโดรเจนมากที่สุด เนื่องจากมันมีโครงสร้างผลึกที่เป็นเอกลักษณ์ และมีโครงสร้างคล้าย ๆ อุโมงค์ที่มีขนาดเล็กกว่านาโนเมตรอยู่ภายใน
นักวิจัยได้ให้ความร้อนสูงประมาณ 1,200 เคลวิน หรือประมาณ 930 องศาเซลเซียสแก่ดินดวงจันทร์ผ่านกระจกเว้า เมื่อแร่ในดินสัมผัสกับความร้อน ไฮโดรเจนจะทำปฏิกิริยาเคมีกับออกไซด์ของเหล็กในแร่ธาตุ จนสามารถผลิตน้ำออกมาได้ในปริมาณมาก จากการทดลองพบว่า ดินดวงจันทร์ที่หลอมละลาย 1 กรัมสามารถสร้างน้ำได้ 51 - 76 มิลลิกรัม หรือก็คือหากใช้ดินดวงจันทร์ประมาณ 1 ตัน จะทำให้ได้น้ำราว 50 ลิตร หรือก็คือเทียบเท่ากับน้ำขวดใหญ่ 1,500 มิลลิลิตร จำนวน 34 ขวด ซึ่งนักวิจัยพบว่าน้ำปริมาณนี้เพียงพอสำหรับเป็นน้ำดื่มให้คน 50 คน ใน 1 วัน
แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในดินดวงจันทร์ดังกล่าว ถือว่ามีน้อยมาก คือประมาณร้อยละ 0.0001 - 0.02 เท่านั้น ดังนั้นทีมวิจัยจึงเปิดเผยว่า การสกัดน้ำในดินดวงจันทร์จึงยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย
การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าไฮโดรเจนที่สะสมอยู่ในดินดวงจันทร์นั้น เป็นทรัพยากรสำคัญที่จะทำให้เราสามารถสกัดน้ำมาใช้ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาจัดตั้งสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต
วิธีการนี้พัฒนาโดยนักวิจัยจากหลายสถาบันในประเทศจีน เช่น สถาบันเทคโนโลยีวัสดุและวิศวกรรมหนิงปัว สถาบันฟิสิกส์ของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน รวมถึงสถาบันอื่น ๆ และงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Innovation ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2024
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, The Innovation
ข่าวแนะนำ