TNN ดาวเทียมตรวจจับก๊าซเรือนกระจก ออกแบบเครื่องมือโดย NASA ปล่อยขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ

TNN

Tech

ดาวเทียมตรวจจับก๊าซเรือนกระจก ออกแบบเครื่องมือโดย NASA ปล่อยขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ

ดาวเทียมตรวจจับก๊าซเรือนกระจก ออกแบบเครื่องมือโดย NASA ปล่อยขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ

Tanager-1 ดาวเทียมดวงแรกของ Carbon Mapper Coalition เป้าหมายตรวจจับวัดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดโดยตรงได้ ปล่อยขึ้นสู่อวกาศสำเร็จเมื่อ 16 สิงหาคม 2024

โลกของเรากำลังประสบปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงเริ่มหาวิธีการแก้ไขปัญหามากขึ้น อย่างเช่นความพยายามครั้งนี้ กับการพัฒนาดาวเทียมแทเนเจอร์ 1 (Tanager-1) ดาวเทียมที่ตั้งเป้าหมายใช้เพื่อทำแผนที่ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยสามารถส่งขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จแล้ว เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา


หน่วยงานผู้พัฒนา Tanager-1

ดาวเทียม Tanager-1 เป็นดาวเทียมดวงแรกของกลุ่มพันธมิตร คาร์บอน แมปเปอร์ (Carbon Mapper Coalition) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก โดยในองค์กรนี้ประกอบด้วยหน่วยงานระดับโลกหลายหน่วยงาน เช่น ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL) ขององค์การนาซา บริษัทสร้างและให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง พลาเน็ต แลปส์ (Planet Labs) คณะกรรมการทรัพยากรทางอากาศแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยแอริโซนา เป็นต้น ซึ่งดาวเทียม Tanager-1 เองก็ได้ใช้เครื่องมือติดตามก๊าซเรือนกระจกที่ออกแบบโดย JPL อีกด้วย


ดาวเทียมตรวจจับก๊าซเรือนกระจก ออกแบบเครื่องมือโดย NASA ปล่อยขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ


หลักการทำงานและเทคโนโลยีที่ออกแบบโดย NASA

Tanager-1 เป็นดาวเทียมขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม ใช้เทคโนโลยีถ่ายภาพแบบสเปกโตรมิเตอร์ (Imaging Spectrometer Technology) ที่พัฒนาโดย JPL ซึ่งเป็นเครื่องมือรวบรวมข้อมูลโดยอาศัยคุณสมบัติทางสเปกตรัมของแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุ กล่าวคือวัตถุหรือสสารแต่ละชนิด จะมีคุณสมบัติในการดูดซับและสะท้อนแสงที่แตกต่างกันในช่วงความยาวคลื่นที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เกิด "ลายพิมพ์ทางสเปกตรัม" ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสสาร ปรากฏออกมาเป็นความเข้มแสงที่แตกต่างกัน เครื่องมือนี้จะวัดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากแหล่งกำเนิดโดยตรงได้


เมื่อเริ่มใช้งานแล้วดาวเทียมจะสแกนพื้นผิวโลกประมาณ 130,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน หรือก็คือสามารถสแกนพื้นผิวประเทศไทยที่มีพื้นที่ 514,000 ตารางกิโลเมตร ได้เสร็จสิ้นภายใน 4 วันเท่านั้น เมื่อได้ข้อมูลจากดาวเทียมมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ของคาร์บอน แมปเปอร์ก็จะวิเคราะห์ข้อมูลจาก Tanager-1 เพื่อตรวจสอบก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงระบุแหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจกด้วย จากนั้นจึงจะนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ Carbon Mapper ข้อมูลเหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้ในการใช้งานที่หลากหลายได้ เช่น ข่าวกรองเพื่อการป้องกันประเทศ การประเมินความหลากหลายทางชีวภาพ การทำแผ่นที่แร่ธาตุ และการประเมินคุณภาพน้ำ เป็นต้น


ปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ

Tanager-1 ถูกส่งขึ้นไปยังอวกาศที่ฐานปล่อยจรวดสเปซ ลอนช์ คอมเพล็กซ์ 4E (Space Launch Complex 4E) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยใช้ยานอวกาศ สเปซเอ็กซ์ เอ็กซ์ ฟัลคอน 9 (SpaceX Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2024 เวลา 11.56 น. ตามเวลาออมแสงแปซิฟิก (PDT) หรือวันที่ 17 สิงหาคม 2024 เวลา 01.56 น. ตามเวลาประเทศไทย และหลังจากปล่อยแล้ว เจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดินสามารถติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมได้เมื่อเวลา 14.45 น. PDT จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการทดสอบใช้งาน


JPL รายงานว่ามีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยก๊าซมีเทนทั่วโลกประมาณร้อยละ 50 เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงเกษตรกรรม และการจัดการขยะ ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการสกัดและเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และในปัจจุบัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 1750 


ดังนั้นข้อมูลรายละเอียดของก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากดาวเทียม Tanager-1 ก็จะทำให้มนุษย์เข้าใจก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้มากขึ้น นำไปสู่การวางแผนการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนต่อไปได้


ดาวเทียมตรวจจับก๊าซเรือนกระจก ออกแบบเครื่องมือโดย NASA ปล่อยขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ


ที่มาข้อมูล JPL.NASA, Planet

ที่มารูปภาพ Planet

ข่าวแนะนำ