AI ดูสีลิ้นทำนายโรคแม่นถึง 98% เจอทั้งโรคโลหิตจาง โควิด และหอบหืด
นักวิจัยจากอิรักใช้ AI ทำนายโรคจากสีของลิ้นแบบเรียลไทม์ ให้ความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 98
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีตะวันออกกลาง (Middle Technical University: MTU) ในกรุงแบกแดกของอิรัก ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียใต้ (University of South Australia: UniSA) ในออสเตรเลีย ร่วมกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบแมชชีน เลิร์นนิง (Machine Learning) หรือระบบเรียนรู้ด้วยตัวเองของคอมพิวเตอร์ ที่สามารถคาดการณ์โรคของผู้ป่วยด้วยการดูสีของลิ้น ด้วยความแม่นยำร้อยละ 98 เคลมว่าสามารถใช้ตรวจโรคโลหิตจาง (anemia) โควิด-19 โรคหอบหืด รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบเลือดและทางเดินอาหาร
ฐานข้อมูลเพื่อการตรวจโรคจากลิ้นด้วย AI
โมเดล AI ดังกล่าวอาศัยองค์ความรู้จากแพทย์แผนจีนโบราณในการใช้สีของลิ้นเพื่อการวินิจฉัยโรค เนื่องจากสี รูปทรง และความหนาของลื้นสามารถบ่งบอกสัญญาณปัญหาสุขภาพได้ เช่น ภาวะลิ้นที่มีสีเหลือง มักพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนผู้ป่วยมะเร็ง มักมีลิ้นสีม่วงและคราบมันใสเคลือบติดอยู่ รวมไปถึง ลิ้นสีขาวที่อาจบ่งบอกอาการโรคโลหิตจาง เป็นต้น
โดยนักวิจัยได้ฝึกโมเดล AI ด้วยการใช้ไฟล์ภาพโทนสีต่าง ๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า สีเทา ฯลฯ ในธรรมชาติ ที่มีเรื่องของความเข้มสี ความสว่างที่ต่างกันกว่า 5,260 ภาพ เป็นฐานในการฝึกสอนโมเดล จากนั้นได้ใช้ภาพถ่ายลิ้นผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง โควิด-19 โลหิตจาง ฯลฯ กว่า 60 ภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างให้โมเดล AI รู้ว่าลิ้นสีไหน เชื่อมโยงไปถึงสัญญาณของโรคอะไรได้บ้าง
การใช้งาน AI ตรวจโรคจากลิ้น
โดยในการใช้งานจริง ผู้ป่วยจะต้องแลบลิ้นใส่กล้องที่ทีมวิจัยเตรียมเอาไว้ โดยมีระยะห่างระหว่างกล้องกับลิ้น 20 เซนติเมตร เพื่อบันทึกภาพ จากนั้น AI จะทำการประมวลผลภาพ และรายงานการคาดการณ์แบบเรียลไทม์ให้กับแพทย์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทีมวิจัยต้องการให้โมเดลดังกล่าวช่วยลดระยะเวลาการรอรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากการตรวจวินิจฉัยและระบุโรคเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่พึ่งการสังเกตอาการโดยแพทย์ ที่มีบุคคลากรจำกัด ทำให้ต้องรอตรวจนาน และอาจจะเสียเวลาในแง่มุมของผู้ป่วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังจำเป็นต้องใช้แพทย์ในการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย ไม่สามารถใช้แค่ AI ในการส่งข้อมูลการวินิจฉัย เพื่อจ่ายยาหรือดำเนินการต่อได้เพียงอย่างเดียว แต่ทีมนักวิจัยเชื่อว่า AI ที่พัฒนาจะช่วยให้แพทย์ตรวจรักษาได้ไวยิ่งขึ้น และในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การใช้กล้องสมาร์ตโฟนต่อไป โดยงานวิจัยได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการเทคโนโลยี (Technologies) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข้อมูล Interesting Engineering
ภาพ Freepik
ข่าวแนะนำ