วิจัยเผย 2 ช่วงชีวิตสำคัญ ร่างกายจะแก่เร็วมากในอายุ 44 และ 60 ปี
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดเปิดเผย อายุ 44 และต้น 60 เป็นช่วงเวลาที่โมเลกุลและจุลินทรีย์ในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะฉะนั้นควรจับตาและรักษาสุขภาพให้ดี
หากคุณคิดว่าเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะค่อย ๆ เสื่อมลงทีละน้อยไปทีละปี นั่นอาจเป็นความคิดที่ผิดก็ได้ เพราะการศึกษาล่าสุดของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า 2 ช่วงเวลาที่โมเลกุลและจุลินทรีย์ในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในชีวิตมนุษย์ คือตอนอายุกลาง 40 และต้น 60 ปี ซึ่งอาจจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม หรือแก่ลงอย่างรวดเร็ว
ศึกษาข้อมูลกว่า 250,000 ล้านจุด
โดยนักวิจัย ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 25 - 75 ปี จำนวน 108 คน ประเมินโมเลกุลที่แตกต่างกันหลายพันโมเลกุลรวมถึงไมโครไบโอม (Microbiomes) ซึ่งหมายถึงแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราที่อาศัยอยู่ตามตัวและบนผิวหนังของเรา โดยมุ่งความสนใจไปที่โมเลกุลหลายประเภท เช่น ใน RNA โปรตีน และที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญ (Metabolites) ทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลและจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับอายุมากกว่า 135,000 รายการ รวมแล้วมีข้อมูลที่แตกต่างกันเกือบ 250,000 ล้านจุดส่งผลให้สามารถรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับปัจจัยทางชีววิทยาได้อย่างครอบคลุม
อายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างที่ร่างกายแก่ลงอย่างรวดเร็ว
นักวิจัยพบว่า โมเลกุลและจุลินทรีย์จำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงโดยอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่โมเลกุลประมาณร้อยละ 81 มีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่เป็นเส้นตรง หมายถึงว่ามันจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทีละปี แต่จะมีบางช่วงที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างก้าวกระโดดมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ เมื่อนักวิจัยศึกษากลุ่มโมเลกุลที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จึงพบว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลง 2 ช่วงเวลามากที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่เมื่อเรามีอายุ 44 และ 60 ปี
นักวิจัยเผยว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงอายุต้น ๆ 60 ปีนั้นถือว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะปกติเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมลงอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงกลาง ๆ 40 ปี คือจุดที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์แปลกใจ เนื่องจากในตอนแรกพวกเขาสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหมดประจำเดือนของเพศหญิง แต่เมื่อแบ่งกลุ่มศึกษาตามเพศ กลุ่มตัวอย่างเพศชาย ก็มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุกลาง ๆ 40 ปีเช่นเดียวกันกับกลุ่มตัวอย่างเพศหญิง
นักวิจัยเผยว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา ในคนอายุกลาง ๆ 40 ปี พบว่าโมเลกุลที่เปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ คาเฟอีน การเผาผลาญไขมัน โรคหลอดเลือดหัวใจ ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ส่วนในคนอายุต้น ๆ 60 ปี โมเลกุลที่เปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและคาเฟอีน ระบบภูมิคุ้มกัน การทำงานของไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ผิวหนัง รวมถึงกล้ามเนื้อ
ผลการศึกษาอาจได้รับผลกระทบจากพฤติกรรม
นอกจากนี้การศึกษานี้ยังพบว่า กระบวนการแก่ชราในร่างกายมนุษย์ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอต่ออวัยวะทุกส่วนในร่างกายพร้อมกัน แต่จะส่งผลต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละคน ซึ่งทีมวิจัยเผยว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ บางส่วนอาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ในช่วงอายุ 40 ปีนั้นอาจเป็นเพราะมีการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ซึ่งสืบเนื่องมาจากเป็นช่วงชีวิตที่เกิดความเครียดอย่างมาก
หลังจากนี้ ทีมวิจัยวางแผนที่จะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษานี้ก็ทำให้เราจำเป็นต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอายุกลาง ๆ 40 และต้น ๆ 60 ปี
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Aging ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม 2024
ที่มาข้อมูล ScitechDaily, Nature
ข่าวแนะนำ