แผ่นบันทึกทองคำตัวแทนมนุษยชาติบนยานวอยเอเจอร์ ในพิธีปิดโอลิมปิกปารีส 2024
แผ่นบันทึกทองคำตัวแทนมนุษยชาติบนยานวอยเอเจอร์ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลด้านต่าง ๆ ของมนุษยชาติในพิธีปิดโอลิมปิกปารีส 2024
ในช่วงหนึ่งของพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิก กรุงปารีส 2024 ประเทศฝรั่งเศสได้จัดการแสดงที่สะท้อนความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยสื่อถึงการมีส่วนร่วมสำรวจอวกาศกับยานอวกาศในโครงการยานวอยเอเจอร์ (Voyager) ของนาซา ซึ่งประเทศฝรั่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตแผ่นบันทึกทองคำ (Voyager Golden Record) เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลด้านต่าง ๆ ของมนุษยชาติส่งขึ้นไปพร้อมกับยานอวกาศวอยเอเจอร์ทั้ง 2 ลำ คือ ยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) และยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2)
การผลิตแผ่นบันทึกทองคำ (Voyager Golden Record) เกิดขึ้นในฝรั่งเศสโดยบริษัท ไพ-รัล เอสเอ (Pyral SA) แคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ ก่อนส่งไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าสู่กระบวนการบันทึกข้อมูล แผ่นบันทึกทองคำมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว ชุบด้วยนิกเกิล ก่อนชุบด้วยทองคำ ด้านนอกของแผ่นบันทึกมีลักษณะเป็นอลูมิเนียมและชุบด้วยยูเรเนียม-238 บริสุทธิ์ โดยยูเรเนียม-238 มีครึ่งชีวิต 4,468 พันล้านปี จึงมีความเหมาะสมที่จะใช้ปกป้องแผ่นบันทึกทองคำอันล้ำค่า
ข้อมูลบนแผ่นบินทึกทองคำนาซาได้คัดเลือกทีมงานนักวิทยาศาสตร์นำโดยคาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านดาวเคราะห์และการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิต โดยรายละเอียดข้อมูลที่ถูกบันทึกลงไป เช่น
คำทักทายจากนายเคิร์ต วัลด์ไฮม์เลขาธิการสหประชาชาติ, คำทักทายภาษาต่าง ๆ 55 ภาษา รวมไปถึงภาษาไทย, บทเพลงของศิลปินโยฮันน์ ฟาน เบโทเฟิน, เพลงจากชนเผ่าต่าง ๆ, เพลงจากเครื่องดนตรีจีน, ภาพถ่ายประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงภาพรถติดบนสะพานพุทธภาพจากประเทศไทย, เสียงธรรมชาติ ป่าไม้ ลดพัด ทะเล ฝนตก ทะเลทราย เสียงนก เสียงหัวใจมนุษย์เต้น เสียงเดินของมนุษย์ และเสียงรถยนต์ เป็นต้น
โครงการยานวอยเอเจอร์ (Voyager) เกิดขึ้นจากการคำนวณของนักวิทยาศาตร์ที่พบว่าวงโคจรดาวในระบบสุริยะจักรวาลระหว่างปี 1970-1980 ดาวเคราะห์ทั้ง 4 ดวง คือ ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน อยู่ในตำแหน่งที่มีความเหมาะสมต่อการส่งยานอวกาศไปสำรวจและใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงของดาวทั้ง 4 ช่วยให้ยานอวกาศเดินทางได้ไกลมากขึ้น โดยใช้พลังงานที่ต่ำซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในทุก 175 ปี
การปล่อยยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) และยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) นาซาใช้จรวดขนส่งอวกาศไททันเซนทอร์ (Titan-Centaur) โดยยานวอยเอเจอร์ 2 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1977 ส่วนยานวอยเอเจอร์ 1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 5 กันยายน 1977
แม้ว่าจุดหมายปลายทางของยานอวกาศวอยเอเจอร์ทั้ง 2 ลำ จะไม่มีการระบุไว้ชัดเจน แต่เชื่อว่ายานอวกาศทั้งสองจะเดินทางต่อไปอีกหลายหมื่นปีผ่านบริเวณที่เรียกว่า อวกาศระหว่างดวงดาว (Interstellar Space) ตรงไปยังทิศทางตำแหน่งกลุ่มดาวยีราฟ (Camelopardalis) และอาจเดินทางไปถึงกลุ่มดาวดังกล่าวในอีกประมาณ 40,000 ปีข้างหน้า แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ยานจะเดินทางไปพบกับดวงดาวที่มีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา เพียงพอที่จะเปิดอ่านแผ่นจานทองคำนี้ได้ หรือบางทีโอกาสอาจเหลือเพียง 0%
ปัจจุบันยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) อยู่ห่างจากโลก 23,000 ล้านกิโลเมตร และยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) อยู่ห่างจากโลก 20,000 ล้านกิโลเมตร แต่ยานทั้ง 2 ลำ ยังคงส่งข้อมูลกลับมายังโลกช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาทำความเข้าใจระบบสุริยะและอวกาศชั้นนอกมากขึ้น คาดว่ายานอวกาศทั้ง 2 ยังคงทำภารกิจไปจนถึงปี 2025 เป็นอย่างน้อย หากไม่เกิดเหตุขัดข้องกับตัวยานอวกาศ และเป็นตัวแทนผู้ส่งสารจากมนุยชาติไปยังอารยธรรมบนดาวดวงอื่น
ที่มาของข้อมูล Voyager Golden Record, en.wikipedia.org
ข่าวแนะนำ