TNN จีนทดสอบ T-Flight รถไฟพลังแม่เหล็กในท่อสูญญากาศความเร็ว 623 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

TNN

Tech

จีนทดสอบ T-Flight รถไฟพลังแม่เหล็กในท่อสูญญากาศความเร็ว 623 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

จีนทดสอบ T-Flight รถไฟพลังแม่เหล็กในท่อสูญญากาศความเร็ว 623 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

จีนทดสอบ T-Flight รถไฟพลังแม่เหล็กในท่อสูญญากาศความเร็ว 623 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เตรียมทดสอบระยะที่สองเพิ่มความเร็วเป็น 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

บริษัท CASIC หรือ China Aerospace Science and Industry Corporation ผู้พัฒนาเทคโนโลยีรถไฟพลังแม่เหล็กในท่อสูญญากาศ เปิดเผยความสำเร็จในการทดสอบเฟสแรกของต้นแบบรถไฟความเร็วสูงแบบพิเศษพลังแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ T-Flight แม็กเลฟภายในท่อสุญญากาศต่ำ (UHS) ผลการทดสอบเบื้องต้นระยะทาง 2 กม. พบว่า T-Flight สามารถทำความเร็วได้ถึง 623 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


ความสำเร็จดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) ของประเทศจีน การทดสอบในครั้งนี้เป็นการสานต่อความสำเร็จจากการทดสอบเมื่อเดือนตุลาคม 2023 โดยการทดสอบครั้งนั้นเป็นการวิ่งในระยะทางสั้น ๆ ภายในต่อที่เป็นสุญญากาศ ซึ่งแตกต่างจากแตกต่างจากการทดสอบในครั้งที่รถไฟสามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่าสอดคล้องกับแผนการที่วางเอาไว้


แนวคิดการขนส่งด้วยรถไฟพลังแม่เหล็กในท่อสุญญากาศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถูกพัฒนามาได้ระยะหนึ่งแล้วในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งบางบริษัทอาจใช้ชื่อเรียกว่าเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนามากนัก และหลายบริษัทต้องปิดกิจการไปในที่สุด


สำหรับจุดเด่นของรถไฟพลังแม่เหล็กในท่อสุญญากาศอยู่ที่ระบบขับเคลื่อนสามารถเร่งความเร็วได้สูงเนื่องจากภายในท่อสุญญากาศไม่มีแรงต้านของอากาศที่ชะลอความเร็วของตัวรถไฟ ในขณะเดียวกันโครงสร้างทั้งหมดของรถไฟก็ลอยเหนือรางแม่เหล็กไฟฟ้า ยิ่งทำให้รถไฟเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงโดยปราศจากแรงเสียดทานจากอากาศ โดยคาดว่าความดันของบรรยากาศปกติบนโลกที่ระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 14.7 psi หรือ 1 บาร์ ในขณะที่ภายในท่อสุญญากาศอาจอยู่ระหว่าง 1 psi หรือ 0.07 บาร์ ถึงประมาณ 13.7 psi หรือ 0.9 บาร์ เท่านั้น


นอกจากในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟพลังแม่เหล็ก โดยใช้ชื่อว่ารถไฟแม่เหล็กซีรีส์ L0 แต่รถไฟแม่เหล็กของญี่ปุ่นนั้นตัวรถไม่ได้วิ่งอยุ่ในท่อสุญญากาศทำให้ยังคงมีแรงต้านของอากาศที่คอยชะลอความเร็วของรถไฟเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวกับสภาพอากาศที่รบกวนการเคลื่อนที่ของรถไฟแม่เหล็กซีรีส์ L0 ทำให้สามารถทำสถิติความเร็วสูงสุดเอาไว้ที่ 602 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น


แม้ว่าต้นแบบรถไฟความเร็วสูงแบบพิเศษ T-Flight แม็กเลฟภายในท่อสุญญากาศต่ำ (UHS) ของจีนจะทำความเร็วได้มากกว่ารถไฟแม่เหล็กซีรีส์ L0 ของญี่ปุ่น แต่รถไฟ T-Flight ยังคงมีลักษณะเป็นต้นแบบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากรถไฟแม่เหล็กซีรีส์ L0 ของญี่ปุ่น ที่ถูกสร้างให้มีขนาดใหญ่เท่ากับขบวนรถจริง ๆ ที่จะเปิดให้บริการในอนาคต


อย่างไรก็ตามเป้าหมายของรถไฟ T-Flight ของจีนนั้นยิ่งใหญ่ และท้าทายขีดความสามารถทางด้านวิศวกรรมเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าหากมันถูกพัฒนาให้รองรับผู้โดยสารได้จริง ๆ จะสามารถลดเวลาเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีระยะทาง 1,100 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง จากการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงแบบเก่าต้องใช้เวลา 4.5-6.5 ชั่วโมง


โดยในอนาคตบริษัท CASIC วางแผนที่จะทดสอบรถไฟ T-Flight ด้วยความเร็วสูงสุด 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในการทดสอบระยะที่สอง ซึ่งต้องใช้เส้นทางในท่อสุญญากาศความยาวมากถึง 60 กิโลเมตร ซึ่งหากประสบความสำเร็จตัวรถไฟจะเดินทางได้เร็วกว่าความเร็วในการเดินทางทั่วไปของเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชน์อย่างเช่นเครื่องบิน Airbus A320 ซึ่งใช้ความเร็วประมาณ 890 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


นอกจากนี้บริษัท CASIC ยังวางแผนที่สุดท้าทายในการทดสอบระยะที่สาม โดยบริษัทเคยประกาศเอาไว้ว่าต้องการพัฒนารถไฟ T-Flight ให้สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 4,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามบริษัทยังไม่เปิดเผยกำหนดการที่แน่นอนเกี่ยวกับการทดสอบดังกล่าว ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว


ที่มาของข้อมูล Newatlas

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ