กำแพงกังหันลมลอยน้ำมหึมา Windcatcher ผลิตไฟฟ้าในนอร์เวย์
สตาร์ตอัปจากนอร์เวย์ไม่หยุดพัฒนา สร้าง "กำแพงกังหันลม" ลอยน้ำ ที่ใช้การติดตั้งกังหันลมขนาดเล็กจำนวนมากเข้าด้วยกัน กลายเป็นโครงสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดมหึมา ปฏิวัติวงการพลังงานสะอาดในอนาคต
สตาร์ตอัปจากประเทศนอร์เวย์ ประสบความสำเร็จในการขอการรับรองการออกแบบกังหันลมนอกชายฝั่งแบบลอยน้ำขนาดใหญ่ ที่ใช้การรวมโรเตอร์ หรือใบพัดของกังหันขนาดเล็กมาเรียงต่อกัน แทนที่จะใช้กังหันลมขนาดใหญ่เพียงตัวเดียวเหมือนกังหันลมทั่วไป จนกลายเป็น “กำแพงกังหันลม” ขนาดใหญ่ ที่สามารถสร้างพลังงานได้มากถึง 40-126 เมกะวัตต์ (MW)
ผลงานนี้พัฒนาโดนบริษัทด้านพลังงานในประเทศนอร์เวย์ วิน แคชชิ่ง ซิสเต็ม (Wind Catching Systems - WCS) ภายใต้ชื่อผลงานว่า วินแคชเชอร์ (Windcatcher) ตัวกำแพงกังหันลมนี้ สร้างขึ้นจากการรวมกังหันลมประมาณ 117 ตัว ติดตั้งบนโครงเหล็กขนาดยักษ์สูงประมาณ 300 เมตร และกว้าง 350 เมตร ซึ่งจะติดตั้งอยู่บนแท่นลอยน้ำ
ตัวกังหันออกแบบมาเพื่อรองรับกระแสลมแรงที่พบในทะเลทางตอนเหนือของยุโรป และกังหันลมแต่ละชุด จะมีสถานีที่เชื่อมต่อเพื่อส่งออกพลังงานไปยังภาคพื้นดิน โดยคาดว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตพลังงาน เพื่อให้เพียงพอสำหรับการใช้งานได้ถึง 80,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ข้อดีของตัวกำแพงกังหันดังกล่าว ทางบริษัทระบุว่า ออกแบบให้ใช้งานได้นานถึง 50 ปี และคาดว่าจะลดการใช้พื้นที่การติดตั้งกังหันลงได้มากกว่าร้อยละ 80 รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยกว่าการใช้งานกังหันลมลอยน้ำทั่วไป
สำหรับความสำเร็จล่าสุดของบริษัท คือการได้รับการอนุมัติจากองค์กร ดีเอ็นวี (DNV) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการตรวจสอบและรับรองชั้นนำระดับโลก และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสาธิตเชิงพาณิชย์ในอนาคต
โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างกระบวนการขอใบอนุญาต สำหรับโครงการสร้างกังหันสาธิตนอกชายฝั่ง ออยการ์เดน (Øygarden) ในประเทศนอร์เวย์ และคาดว่าจะเริ่มการผลิตใช้งานยูนิตแรกจากทั้งหมดที่ตั้งเป้าไว้สี่ยูนิต แต่ยังไม่ได้มีการระบุว่าจะเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อไหร่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป
ข้อมูลจาก rechargenews, classnk, offshorewind, newatlas
ข่าวแนะนำ