TNN บริษัท แม็กซ์ สเปซ (Max Space) พัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้พร้อมเปิดตัวปี 2026

TNN

Tech

บริษัท แม็กซ์ สเปซ (Max Space) พัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้พร้อมเปิดตัวปี 2026

บริษัท แม็กซ์ สเปซ (Max Space) พัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้พร้อมเปิดตัวปี 2026

บริษัท Max Space พัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ เพิ่มระบบความปลอดภัยและพื้นที่ขยายใหญ่มากขึ้น บริษัทมีแผนเปิดตัวสถานีอวกาศดังกล่าวในปี 2026

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีหลายแห่งกำลังให้ความสำคัญกับการก่อสร้างสถานีอวกาศอวกาศ เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาการใช้ชีวิตบนอวกาศ เช่นเดียวกับบริษัท แม็กซ์ สเปซ (Max Space) สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐอเมริกาที่หยิบเอาแนวคิดสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ในยุค 90 มาปัดฝุ่นใหม่ โดยเพิ่มระบบความปลอดภัยและพื้นที่ขยายใหญ่มากขึ้น บริษัทมีแผนเปิดตัวสถานีอวกาศดังกล่าวในปี 2026


บริษัทสตาร์ตอัปแม็กซ์ สเปซ (Max Space) แห่งนี้ก่อตั้งโดยแอรอน เค็มเมอร์ (Aaron Kemmer) อดีตพนักงานของบริษัท เมด อิน สเปซ (Made in Space) และแม็กซิม เดอ ยอง (Maxim de Jong) วิศวกรด้านเทคโนโลยีอวกาศที่มีประสบการณ์อยู่ในทีมงานสร้างโมดูลให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS บริษัทมีเป้าหมายพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบขยายได้แบบอเนกประสงค์ มีประสิทธิภาพและกว้างกว่าโมมูลสถานีอวกาศทั่วไป โดยใช้ต้นทุนราคาถูกกว่าและน้ำหนักเบา โครงสร้างเหล็กหรือวัสดุที่มีความแข็งจะถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างคล้ายลูกโป่งพองตัวได้มีความแข็งแรงทนทานต่ออันตรายต่าง ๆ บนอวกาศ


สถานะของการพัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ของบริษัทแม็กซ์ สเปซ (Max Space) ปัจจุบันบริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างโมดูลต้นแบบลักษณะคล้ายลูกโป่งที่ประกอบด้วยเส้นใยที่แข็งแรงจำนวน 96 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นรับน้ำหนักได้ 17,000 ปอนด์ สามารถป้องกันความร้อน รังสีและไมโครเมทิออไรต์ หรืออุกกาบาตขนาดเล็กบนอวกาศ โดยใช้การเชื่อมต่อที่แข็งแรง แต่ก็สามารถรองรับการเพิ่มช่องว่างอื่น ๆ เช่น ประตูทางเข้าและหน้าต่างของโมดูลที่จะถูกเพิ่มลงไปในอนาคต


สำหรับกระบวนการทำงานของโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ของบริษัทแม็กซ์ สเปซ (Max Space) ใช้รูปแบบการส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด โดยโครงสร้างคล้ายลูกโป่งจะถูกพับเก็บเอาไว้ ก่อนจะพองตัวบนอวกาศโดยใช้แรงดันอากาศ พื้นที่ภายในโมดูลรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของนักบินอวกาศ ทั้งรูปแบบห้องวิจัยและกิจกรรมอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับรูปแบบภารกิจ


นอกจากแผนการพัฒนาโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ บริษัทยังมีแผนการระยะยาวเกี่ยวกับการพัฒนาโมดูลสำหรับใช้เป็นฐานบนดวงจันทร์ โดยมีจุดเด่นในด้านของการก่อสร้างที่ทำได้อย่างรวดเร็วบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่คล้ายการพองตัวของโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ บริษัทยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของแผนการดังกล่าวออกมามากนัก และคาดว่าต้องใช้การพัฒนาอีกหลายปี


ก่อนหน้านี้แนวคิดโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวถูกนำเสนอผ่านโครงการ TransHab ของนาซาในช่วงยุค 90 แม้ลักษณะภายนอกดูคล้ายลูกโป่งขนาดใหญ่ แต่โครงสร้างภายในนั้นมีความแข็งแรงด้วยเส้นใหญ่และถูกถักทอขึ้นด้วยความละเอียดคล้ายตะกร้า รองรับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สุดขั้วบนอวกาศ และแรงกดดันมหาศาล แต่เนื่องจากข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีในช่วงยุค 90 ทำให้โครงการ TransHab ก็ไม่ได้คืบหน้ามากนัก 


ปัจจุบันนอกจากบริษัทแม็กซ์ สเปซ (Max Space) ยังมีบริษัทอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกากำลังพัฒนาเทคโนโลยีโมดูลสถานีอวกาศแบบพองตัวได้ เช่น บริษัท Sierra Nevada, Bigelow Aerospace และ Lockheed Martin โดยเฉพาะบริษัท Bigelow Aerospace ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ด้วยการพัฒนาโมดูลแบบพองตัว BEAM ส่งไปติดตั้งเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมา




ที่มาของข้อมูล Techcrunch

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ