TNN พิธีจุดคบเพลิงในโอลิมปิกปารีส 2024 เพื่อย้อนรำลึก ถึงการทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนปี 1783

TNN

Tech

พิธีจุดคบเพลิงในโอลิมปิกปารีส 2024 เพื่อย้อนรำลึก ถึงการทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนปี 1783

พิธีจุดคบเพลิงในโอลิมปิกปารีส 2024 เพื่อย้อนรำลึก ถึงการทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนปี 1783

พิธีจุดคบเพลิงในโอลิมปิกปารีส 2024 เพื่อย้อนรำลึกถึงการทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนปี 1783 โดยฌาคส์ ชาร์ลส์ (Jacques Charles) นับเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ คนสำคัญของประเทศฝรั่งเศส

คืนวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมาโอลิมปิก 2024 “ปารีสเกมส์” ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ โดยมีพิธีเปิดที่สวยงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นศูนย์รวมของผลงานศิลปะที่สำคัญของโลก และในส่วนของพิธีจุดคบเพลิงของโอลิมปิกในครั้งก็เซอร์ไพรส์มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ พร้อมแฝงไว้ด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สำคัญ


เริ่มจากผู้วิ่งคบเพลิงประกอบด้วยนักกีฬาคนสำคัญที่เป็นตัวแทนของชัยชนะของนักกีฬาจากประเทศฝรั่งเศส และนักกีฬาทั่วโลก และผู้ถือคบเพลิงคนสุดท้าย 2 คน ประกอบด้วยมารี-โฌเซ เปเรก นักวิ่งหญิง เจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิก และ เท็ดดี ริเนอร์ นักกีฬายูโด เจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิก แชมป์โลก 11 สมัย ชาวฝรั่งเศสร่วมจุดคบเพลิงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024


ไฮไลท์ของการจุดคบเพลิงในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เจ้าภาพฝรั่งเศสได้ใช้การจุดคบเพลิงนอกสนามแข่งขัน โดยใช้พื้นที่บริเวณสวนสาธารณะกลางกรุงปารีสปล่อยบอลลูนขนาดใหญ่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับบอลลูนที่ถูกใช้เป็นกระถางคบเพลิงถูกออกแบบโดยนักออกแบบมาติเยอ เลอฮานเนอร์ (Mathieu Lehanneur) มีลักษณะเป็นวงแหวนเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เมตร บอลลูนความสูง 30 เมตร กว้าง 22 เมตร


นอกจากบอลลูนลูกนี้จะถูกใช้เป็นกระถางคบเพลิงสัญญาณการเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 อย่างเป็นทางการ ยังเป็นการรำลึกถึงการทดสอบปล่อยบอลลูนไฮโดรเจนพร้อมผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์ขึ้นสู่ท้องฟ้าครั้งแรกของโลกของนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1783 หรือเมื่อ 241 ก่อน


ฌาคส์ ชาร์ลส์ (Jacques Charles) นับเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ คนสำคัญของประเทศฝรั่งเศส และเป็นผู้พัฒนาบอลลูนแก๊สไฮโดรเจนลำแรกของโลก การทดสอบมีขึ้นในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1783 การทดสอบครั้งแรกนั้นคาดว่าเกิดขึ้นบริเวณที่ใกล้กับหอไอเฟล สัญลักษณ์ของกรุงปารีสในปัจจุบัน


การออกแบบบอลลูนแก๊สไฮโดรเจนลูกแรกของโลกมีลักษณะเป็นทรงกลมขนาด 35 ลูกบาศก์เมตรทำด้วยผ้าไหมเคลือบยาง รองรับน้ำหนักได้ประมาณ 9 กิโลกรัม ทำให้การทดสอบครั้งแรกไม่มีมนุษย์อยู่บนบอลลูน สำหรับแก๊สไฮโดรเจนที่อยู่ภายในบอลลูนเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาเคมีของกรดซัลฟิวริก กระบวนการเติมไฮโดรเจนใส่บอลลูนต้องใช้ท่อที่ผลิตจากตะกั๋วและเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก หลังจากบอลลูนไฮโดรเจนลูกแรกของโลกลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าประมาณ 45 นาที และตกลงสู่พื้นดินห่างออกไปประมาณ 21 กิโลเมตร


การทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนที่มีลูกเรือที่เป็นมนุษย์อยู่ภายในเกิดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1783 บริเวณสวนตุยเลอรี กรุงปารีส โดยมีลูกเรือที่เดินทางขึ้นพร้อมกับบอลลูน คือ ฌาคส์ ชาร์ลส์ และนิโกลาส-หลุยส์ โรเบิร์ต ท่ามกลางผู้ชมกว่า 400,000 คน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยในวันนั้นมีบุคคลสำคัญ คือ เบนจามิน แฟรงคลิน ในฐานะผู้แทนจากฑูตของประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมชมและบันทึกนาทีประวัติศาสตร์


บอลลูนแก๊สไฮโดรเจนที่บรรทุกลูกเรือได้รับการออกแบบให้มีขนาดใหญ่มากถึง 380 ลูกบาศก์เมตร ติดตั้งห้องโดยสารที่คล้ายกับตะกร้าขนาดใหญ่พร้อมกับแขวนถุงทรายไว้ด้านข้าง เพื่อควบคุมระดับความสูงของบอลลูน โดยทั้งฌาคส์ ชาร์ลส์ และนิโกลาส-หลุยส์ โรเบิร์ต ได้ควบคุมบอลลูนขึ้นสู่ท้องฟ้าไปได้ที่ระดับความสูง 550 เมตร ใช้เวลาในการบินลอยบนท้องฟ้าทั้งหมด 2 ชั่วโมง 5 นาที เป็นระยะทางกว่า 36 กิโลเมตร โดยการทดสอบมีเจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์ควบม้าไล่ตามบอลลูนไปตลอดเส้นทาง


การทดสอบบอลลูนแก๊สไฮโดรเจนลูกแรกของโลกของฌาคส์ ชาร์ลส์ (Jacques Charles) นับเป็นความกล้าหาญและก้าวกระโดดด้านวิทยาการครั้งสำคัญของมนุษย์ ในปัจจุบันเทคโนโลยีบอลลูนมีความสำคัญในหลายด้าน เช่น การเดินทางขนส่ง การสื่อสาร การสำรวจสภาพอากาศ และในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าโอลิมปิกปารีส 2024 ประเทศฝรั่งเศสได้แสดงศักยภาพทั้งด้านวัฒนธรรมที่สวยงาม ความก้าวหน้าด้านวิทยาการ และประวัติศาสตร์ของประเทศ ได้อย่างตราตรึงใจผู้คนทั่วโลก


ที่มาของข้อมูล nbcolympics.com, Wikipedia.org

ข่าวแนะนำ