ส่องเทคโนโลยีวงการกีฬา ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว !? | TNN Tech Reports
ส่องความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในวงการกีฬา ที่จะมายกระดับให้สนุก ยุติธรรมและเพิ่มศักยภาพให้กับนักกีฬา
หากจะพูดถึงการพัฒนาในวงการกีฬาทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งก็มาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีในการแข่งขัน ที่จะช่วยให้การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินกระจ่างและยุติธรรมมากขึ้น เช่น ในแวดวงฟุตบอลที่มีการเทคโนโลยี VAR (Video Assistant Referee) ซึ่งเป็นระบบที่นำภาพวิดีโอมาให้ผู้ตัดสินใช้ตัดสินย้อนหลังได้ หรือเทคโนโลยี Goal Line การตัดสินที่เส้นขอบประตู และเทคโนโลยีในด้านของเสื้อผ้าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเอื้อให้นักกีฬาสามารถทำการแข่งขันได้อย่างเต็มสมรรถนะร่างกาย
อุปกรณ์จิ๋วตรวจจับแรงกระทบกระเทือนสมอง
ฮิต (HIT) พัฒนาโดยบริษัทในสกอตแลนด์ มันคืออุปกรณ์วัดการกระแทกที่ศีรษะแบบสวมใส่ได้ ของทีมนักปั่นจักรยานเสือภูเขามืออาชีพ ซึ่งออกแบบมาเพื่อแจ้งเตือนในขณะที่เจอกับแรงกระแทก ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสในการบาดเจ็บได้
อุปกรณ์ตัวนี้จะวัดแรงของการกระแทกที่ศีรษะ ซึ่งอาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือน รวมถึงการกระแทกสะสมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นักกีฬาปั่นจักรยานต้องเจอระหว่างทางการแข่งขัน คล้ายกันกับกรณีของนักฟุตบอล ที่ต้องเจอกับการโหม่งลูกบอลซ้ำ ๆ ในระหว่างการแข่งขัน
ซึ่งตัวอุปกรณ์นี้ จะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน และใช้ระบบเตือนแบบสัญญาณไฟจราจร สีแดงหมายถึงเจอแรงกระแทกมาก สีเหลืองคือปานกลาง และสีเขียวคือน้อย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานตัดสินใจว่า ถึงขั้นที่ต้องเริ่มได้รับการรักษาพยาบาลหรือไม่
โดยทีมพัฒนาระบุว่า อาการกระทบกระแทกทางสมอง เป็นอาการที่อาจจะวินิจฉัยได้ยาก เพราะสมองของมนุษย์เรา เป็นอวัยวะที่ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด ดังนั้นอุปกรณ์ตัวนี้ จึงเป็นเหมือนกับตัวช่วยที่จะส่งสารไปยังผู้ใช้งานว่า พวกเขากำลังได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองหรือไม่ และควรตัดสินใจในการร่วมการแข่งขันต่อ หรือถอนตัวเพื่อรับการกรักษาพยาบาลหรือไม่
โดยปัจจุบันบริษัทมีวางจำหน่ายอุปกรณ์ผ่านหน้าเว็บไซต์ ในราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 11,000 บาท
กีฬาแนวใหม่ “แข่งบอลโดรน”
ถ้าใครเป็นแฟนภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ น่าจะคุ้นกันดีกับกีฬาที่มีชื่อว่าควิดดิช (Quidditch) ซึ่งคล้ายกับกีฬาฟุตบอล แต่ต้องขี่ไม้กวาดบินแข่งกันทำประตูที่อยู่บนเสาสูงเสียดฟ้า ซึ่งกีฬาแนวนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้ว เมื่อมีทีมผู้พัฒนาการแข่งขันกีฬาใหม่ ให้ชื่อว่า โดรน ซอกเกอร์ (Drone Soccer) โดยให้ผู้เล่นบังคับโดรนทรงกลมบินทำประตูได้ คล้ายกับการเอากีฬาควิดดิชและฟุตบอลมาผสมกัน
การแข่งขันกีฬานี้ เคยไปจัดแสดงในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยี CES 2024 ที่เมืองลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจากภาพจะเห็นได้ว่า มีโดรนบินที่ถูกล้อมรอบด้วยเปลือกทรงกลม บินว่อนไปมาภายในสนามตาข่าย
การแข่งขันของแต่ละทีม จะกำหนดให้มีนักบิน 5 คน ควบคุมบอลโดรน 5 ลูก ซึ่งแต่ละลูกเมื่อชั่งน้ำหนักรวมแบตเตอรี่แล้ว จะต้องหนักไม่เกิน 1.2 กิโลกรัม โดยทั่วไปจะมีนักบิน 1 คน ที่ต้องทำหน้าที่เป็นกองหน้า ส่วนอีก 4 คน สามารถเล่นเป็นกองหลังหรือตำแหน่งอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อีกทีมทำประตูได้
โดยประตูจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร และลอยอยู่ในอากาศสูง 3.5 เมตร แต่ละทีมจะต้องช่วยป้องกันไม่ให้โดรนฝ่ายตรงข้าม บินลอดผ่านห่วงประตูไปได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยบินคุ้มกัน ให้กองหน้าของเราทำประตูอีกฝ่ายให้สำเร็จเช่นกัน โดยการทำประตูจะเกิดขึ้น เมื่อนักบินบินผ่านประตูวงกลมของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะเรืองแสงสว่างขึ้นเมื่อมีการทำประตูสำเร็จ
ทั้งนี้ทีมผู้พัฒนาและผู้จัดการแข่งขันหวังว่า การแข่งขัน Drone Soccer จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ หันมาสนใจเรียนรู้วิธีการบินโดรน และมีส่วนร่วมกับกีฬานี้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันนับตั้งแต่ก่อตั้ง กีฬาดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีทีมแข่งขันมากกว่า 2,000 ทีม
เครื่องพิมพ์ 3 มิติพิมพ์ชิ้นส่วน McLaren F1
แม็คลาเรน เรซซิ่ง (McLaren Racing) ทีมแข่งรถสัญชาติอังกฤษประกาศว่าตอนนี้พวกเขาได้ใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติในการพิมพ์ชิ้นส่วนต้นแบบของรถแข่ง ฟอร์มูลา วัน (Formula 1) ซึ่งถือเป็นการประกาศยุคใหม่ของการสร้างต้นแบบรถยนต์อย่างรวดเร็วและยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ภายในปี 2030
โดยทางทีม แม็คลาเรน (McLaren) ได้ร่วมมือกับบริษัทการพิมพ์ 3 มิติของอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา สตราทาซิส (Stratasys) ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถพิมพ์ชิ้นส่วนด้วยเส้นใยหลายประเภท รวมถึงคาร์บอนไฟเบอร์ และวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ยังช่วยให้พวกเขาสามารถพิมพ์ชิ้นส่วนได้จำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นส่วนสำคัญต่าง ๆ ของรถต้นแบบสำหรับทดสอบ ซึ่งอาจจะมีมากถึง 10,000 ชิ้น และส่วนใหญ่ก็เป็นแบบใช้ครั้งเดียว
ทั้งนี้ทางทีมบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์กล่าวว่า การที่ทีมแม็คลาเรน สามารถพิมพ์เส้นใยรีไซเคิล 100% ด้วยซอฟต์แวร์ใหม่ของพวกบริษัท ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงสำหรับอุตสาหกรรม เพราะช่วยให้พวกเขาสามารถลดการปล่อยของเสียได้อีกมาก
ข่าวแนะนำ