3 เทคโนโลยี ตัวช่วยพัฒนาเมือง | TNN Tech Reports
ไอเดียดี ๆ จากต่างประเทศ ที่ได้พัฒนา ปรับปรุงระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของเมือง ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง โดยเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ และทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการบริหารงานในหลาย ๆ เมือง ปัจจุบันเราจึงได้เห็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับการพัฒนา ซ่อมแซมโครงสร้าง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในเมืองมากขึ้น
นวัตกรรมทำถนนแบบไม่ต้องปิดถนน
เป็นเรื่องปกติที่การซ่อมแซมถนนแต่ละครั้ง อาจจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรตามมา ด้วยเหตุนี้ 3 บริษัทในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้สร้างนวัตกรรม “ระบบสะพานชั่วคราว แอสตรา บริดจ์ (ASTRA Bridge)” วางเหนือพื้นที่ซ่อมแซมถนน เพื่อช่วยระบายการจราจร ทำให้ไม่ต้องปิดเส้นทาง แม้ว่ากำลังซ่อมถนนอยู่ก็ตาม
โดยบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มาร์ตี เทคนิค (Marti Technik) และ เซนน์ เอจี (Senn AG) ร่วมกับบริษัทยานพาหนะ โคเมตโต (Cometto) ได้พัฒนาระบบสะพานชั่วคราว แอสตรา บริดจ์ ที่มีน้ำหนักรวม 1,250 ตัน และมีความยาว 236 เมตร ซึ่งสามารถวางเป็นแนวตรง 22 ส่วน แต่ละส่วนสะพานจะสามารถทำมุมโค้งได้ 3 องศา เพื่อทำเป็นสะพานโค้งตามแนวถนน โดยมีรัศมีความโค้งอยู่ที่ 1,000 เมตร
ชิ้นส่วนสะพานแต่ละชุด สามารถประกอบเข้ากันด้วยการสั่งงานระบบไฟฟ้าผ่านโปรแกรม โดยเมื่อสร้างเสร็จเล้ว ก็จะได้สะพานที่มีช่วงทางขึ้นและลงฝั่งละ 68 เมตร และส่วนที่เป็นสะพานราบด้านบนสูงสุด 136 เมตร พร้อมพื้นที่ใต้สะพานที่มีความกว้าง 5.2 เมตร และสูง 3.1 เมตร เพียงพอสำหรับรถที่ใช้ซ่อมแซมถนน
การใช้ระบบสะพานชั่วคราว แอสตรา บริดจ์ จะช่วยให้สามารถซ่อมแซมถนนได้ในอัตราวันละ 100 เมตร จากนั้นสามารถเปลี่ยนตำแหน่งของสะพาน ด้วยล้อซึ่งติดอยู่กับฐานของสะพานแต่ละส่วน ซึ่งจะขยับได้ด้วยความเร็ว 0.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ทางสำนักหลวงของรัฐฯ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้นำสะพานนี้ ไปใช้ในการซ่อมแซมทางหลวงพิเศษ (Motorway) สาย เอ-หนึ่ง (A-1) ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสร็จสิ้นการซ่อมแซมในวันที่ 17 สิงหาคมนี้
รถรางวิ่งรับส่งตามทางรถไฟเก่า
เยอรมนีผุดไอเดียคืนชีพให้เส้นทางรถไฟเก่า ด้วยการสร้างระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล (Monorail) หรือรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ไปตามทางรถไฟเก่าที่ไม่ใช้แล้วตามชนบทต่าง ๆ โครงการระบบรถไฟฟ้านี้ มีชื่อว่า โมโนแคป (MONOCAB) ซึ่งแตกต่างจากระบบโมโนเรลแบบดั้งเดิม ด้วยความสามารถในการทรงตัวได้เองบนรางเดี่ยวโดยไม่ต้องมีกลไกรองรับจากภายนอก และการออกแบบตู้โดยสารที่กะทัดรัด ช่วยให้เคลื่อนที่แบบสองทิศทางบนรางเดี่ยวได้คล่องตัวขึ้น
ส่วนการขับเคลื่อน จะใช้ระบบส่งกำลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันตัวต้นแบบจะมีความจุขนาด 27 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เพียงพอสำหรับการใช้งานประมาณ 4 ชั่วโมง ทำความเร็วได้สูงสุดที่ประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในตัวรถรางรองรับผู้โดยสารได้ 4-6 คน
โดยปัจจุบันได้มีการทดสอบใช้งานระบบแล้วบนเส้นทางรถไฟสั้น ๆ ในพื้นที่แถบชนบทของประเทศเยอรมนี และคาดว่าจะสามารถใช้บริการระบบแบบเต็มรูปแบบนี้ ได้ภายในปี 2028
คืนชีพตู้โทรคมนาคมเป็นจุดชาร์จ EV
สหราชอาณาจักร เผยโครงการชุบชีวิตให้กับตู้โทรคมนาคมเก่า ๆ ให้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อกับเครื่องชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้มีจุดชาร์จที่หลากหลาย และกระตุ้นให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น
โดยเครื่องชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่ว่านี้ จะได้รับพลังงานจากตู้โทรคมนาคมเก่า ของบริษัท บีที (BT) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมในสหราชอาณาจักร ซึ่งก่อนหน้านี้ตู้เหล่านี้ จะใช้เก็บสายเคเบิลบรอดแบนด์และสายโทรศัพท์ และเมื่อบริษัทเริ่มหันมาใช้ระบบไฟเบอร์ ตู้โทรคมนาคมจึงค่อย ๆ ลดการใช้งานลง
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ลองนำอุปกรณ์ที่ยังพอใช้งานได้ในตู้เก่า ๆ เช่น ตัวต่อพลังงาน มาปรับเข้ากับระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับรถยนต์ โดยหวังว่าจะช่วยลดขยะตู้โทรคมนาคม และยังมีส่วนร่วมในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ จากการสนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ข่าวแนะนำ