สนามหญ้าเทียมสุดล้ำ ซ่อนช่องเก็บน้ำฝนด้านใต้ ช่วยลดอุณหภูมิคลายร้อน
นักวิจัยจากสถาบันวิจัยน้ำในเนเธอร์แลนด์ (KWR Water Research Institute) เผยโครงการนำหลักชลประทาน มาพัฒนาระบบกักเก็บน้ำภายใต้สนามหญ้าเทียม ที่จะช่วยให้อุณหภูมิของสนามหญ้าเทียมลง และปลอดภัยต่อผู้ใช้งานสนามหญ้าเทียมเหล่านี้มากขึ้น
นักวิจัยจากสถาบันวิจัยน้ำในประเทศเนเธอร์แลนด์ (KWR Water Research Institute) เผยโครงการพัฒนาการปูสนามหญ้าเทียมแบบใหม่ ด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บน้ำไว้ข้างใต้ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิและการอมความร้อนของสนามหญ้าเทียมลง และปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากขึ้น
ปัจจุบันนี้ในแถบพื้นที่อยู่อาศัยเขตเมือง มีการใช้งานสนามหญ้าเทียมมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในสนามกีฬาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในสวนสาธารณะด้วย เนื่องจากข้อดีคือใช้งานสนามได้ต่อเนื่องไม่ต้องกลัวหญ้าจะตาย อีกทั้งยังซ่อมแซมหญ้าที่ปูไว้ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของสนามหญ้าเทียมคือเรื่องของการอมความร้อน โดยนักวิจัยระบุว่าในวันที่อากาศแจ่มใส อุณหภูมิบนสนามหญ้าเทียมอาจจะสูงถึงเกือบ 70 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บจากความร้อนของหญ้าที่โดนผิว รวมถึงเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น โรคลมแดด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
เพื่อแก้ปัญหานี้ นักวิจัยจึงได้พัฒนาระบบการกักเก็บน้ำฝน เพื่อทำความเย็นให้สนามหญ้าเทียม โดยระบบดังกล่าวจะสร้างชั้นกักเก็บน้ำใต้สนามหญ้า เพื่อเก็บน้ำฝน และจะมีกระบอกสูบส่งน้ำกลับไปยังสนามหญ้าเทียม ซึ่งจะเกิดการระเหย และทำให้สนามหญ้าเย็นลงด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ
โดยจากการทดลองภาคสนามที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ ทีมวิจัยพบว่าแม้ในวันที่อากาศร้อนจัดในเดือนมิถุนายน แต่อุณหภูมิของสนามหญ้าเทียมที่ติดตั้งระบบนี้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียสเท่านั้น เทียบกับสนามหญ้าเทียมทั่วไปที่มีอุณหภูมิสูงถึง 62.5 องศาเซลเซียส
ทีมวิจัยระบุว่าข้อดีของระบบนี้คือสามารถติดตั้งได้ง่าย เนื่องจากความลึกในการวางโครงสร้างที่ตื้นและใช้วัสดุน้ำหนักเบา ส่วนค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และปริมาณการกักเก็บน้ำฝนที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ทีมวิจัยไม่ได้ระบุว่าค่าตั้งอุปกรณ์อยู่ที่เท่าใด
อย่างไรก็ตามด้วยระบบนี้ ทีมวิจัยระบุว่านอกจากจะช่วยให้สนามหญ้าเทียมสามารถรักษาความเย็น เพื่อให้เหมาะสำหรับการใช้งานได้แล้ว ยังสามารถกักเก็บน้ำฝนได้เกือบเท่ากับหญ้าธรรมชาติ และในช่วงที่ฝนตกไม่เพียงพอ ก็สามารถเติมน้ำเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบได้โดยตรง เพื่อให้สนามเย็นขึ้นได้อีกด้วย
ข้อมูลจาก interestingengineering, miragenews, kwrwater
ข่าวแนะนำ