TNN เจาะลึกเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F เครื่องบินรบสัญชาติสวีเดนที่อยู่ในความสนใจของกองทัพอากาศไทย

TNN

Tech

เจาะลึกเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F เครื่องบินรบสัญชาติสวีเดนที่อยู่ในความสนใจของกองทัพอากาศไทย

เจาะลึกเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F เครื่องบินรบสัญชาติสวีเดนที่อยู่ในความสนใจของกองทัพอากาศไทย

TNN Tech เจาะลึกเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและเบื้องหลังของเครื่องบินรบสัญชาติสวีเดนที่กองทัพอากาศไทยสนใจ

ยาส เตอร์ตี้ไนน์ กริพเพน อี เอฟ (JAS 39 Gripen E/F) เป็นเครื่องบินรบสัญชาติสวีเดน ซึ่งมีชื่ออยู่ในโผที่กองทัพอากาศไทยต้องการจัดหามาประจำการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่ติดตามข่าวอาจจะเคยเห็นสเปกต่าง ๆ ของ Gripen ที่เปรียบเทียบกับเครื่องบินรบชื่อดังอย่าง F-16 Block 70/72 ซึ่งในบทความนี้ TNN Tech จะเน้นขยายความข้อมูลในด้านภารกิจ หรือสมรรถนะของตัว Gripen เป็นหลัก

เจาะลึกเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F เครื่องบินรบสัญชาติสวีเดนที่อยู่ในความสนใจของกองทัพอากาศไทย

สเปกภายนอกของเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F

ในบรรดาสเปกที่เต็มไปด้วยตัวเลขต่าง ๆ ของเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ อัตราแรงขับต่อน้ำหนัก (Thrust to Weight ratio: T/W) ที่ Gripen E/F มีค่าอยู่ที่ 1.04 (ไม่มีหน่วย)


ตัวเลขดังกล่าวเป็นค่าที่บอกว่าแรงขับทั้งหมดที่ใช้ เทียบกับน้ำหนักตัวเครื่อง รวมถังน้ำมัน รวมจรวด กระสุนต่าง ๆ เป็นเท่าไหร่ ซึ่งค่านี้ยิ่งมากยิ่งแปลว่าแรงขับมาก ส่งผลให้ระยะขึ้นบิน (Take-off Distance) สั้น โดยจากข้อมูลที่เปิดเผยเป็นสาธารณะระบุว่า ค่า Take-off Distance ของเครื่องบินรบ Gripen E/F อยู่ที่ 500 เมตร 


อีกตัวเลขที่สำคัญของเครื่องบินรบ Gripen E/F ก็คือน้ำหนักขึ้นบินสูงสุด (Maximum Take-Off Weight: MTOW) ซึ่งค่านี้ยิ่งมากจะสามารถติดตั้งอาวุธที่มีน้ำหนักสูงได้มากขึ้น เช่น ระเบิด หรือถังน้ำมันสำรอง และอื่น ๆ ตามลักษณะภารกิจของกองทัพอากาศที่ใช้งาน โดย MTOW ของ Gripen E/F อยู่ที่ 16,500 กิโลกรัม ส่วน F-16 Block 70/72 อยู่ที่ 21,800 กิโลกรัม 


การติดตั้งอาวุธของเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F

จากเรื่องตัวเครื่องยนต์กับการออกแบบตัวถังของเครื่องบินรบ มาสู่ระบบอาวุธ แม้ว่าเครื่องบินรบจะรองรับอาวุธหลากหลายประเภท เช่น จรวดอากาศสู่อากาศ จรวดโจมตีภาคพื้นดิน จรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ แต่จุดที่สำคัญที่สุดของการใช้อาวุธ ก็คือจุดที่สามารถติดตั้งได้ (Hardpoint) ว่ามีกี่จุด ซึ่ง Gripen E/F มีจุดติดตั้งอาวุธทั้งหมด 10 จุด ในขณะที่ F-16 Block 70/72 นั้นมี 11 จุด


อย่างไรก็ตาม Hardpoint ของ F-16 Block 70/72 ที่มี 11 จุด จะเป็นจุดติดตั้งเซ็นเซอร์ (Sensor Pod) อยู่ด้วยกัน 2 จุด บริเวณใต้ลำตัวเครื่องบิน (Fuselage) ส่วน Gripen E/F ใน 10 จุด มี 1 จุด ใต้ลำตัว สำหรับติดระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งหมายความว่า จุดติดตั้งอาวุธต่าง ๆ ของเครื่องบินรบทั้ง 2 รุ่น คือ 9 จุด เท่า ๆ กัน 


อาวุธสำหรับภารกิจของเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F

โดยอาวุธที่รองรับของ Gripen E/F จะคล้ายกับ F-16 Block 70/72 เพราะทั้งคู่ต่างใช้มาตรฐานอาวุธแบบ NATO เหมือนกัน แต่หนึ่งในประเภทอาวุธที่น่าสนใจก็คือ จรวดอากาศสู่อากาศในระยะนอกสายตา หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BVRAAM


BVRAAM (Beyond-Visual-Range Air-to-Air Missile) เป็นหนึ่งในอาวุธโจมตีทางอากาศที่ใช้ต่อกรกับอากาศยานฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่นอกระยะสายตา โดยการทำงานรวมกับเรดาร์ของเครื่องบินรบ หรือเรดาร์จากอื่น ๆ ในระบบของฝ่ายพันธมิตร


ในปัจจุบัน จรวดแบบ BVRAAM ที่ได้รับความนิยมในชาติพันธมิตร NATO และชาตินอกพันธมิตรคือ จรวดแบบ AIM-120 จากสหรัฐอเมริกา โดยกองทัพอากาศไทยเองก็ใช้กับเครื่องบินรบ F-16 A/B eMLU เช่นกัน ซึ่ง AIM-120D รุ่นล่าสุดของตระกูล จะมีระยะยิงหวังผลสูงสุด (Effective range) ประมาณ 180 กิโลเมตร ด้วยความเร็วกว่า 4 มัค หรือ 4,939.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


แต่ BVRAAM ที่ทันสมัยที่สุดซึ่งเครื่องบินรบ Gripen E/F รองรับ คือจรวดแบบ เอ็มบีดีเอ เมทีเออร์ (MBDA Meteor) ที่มีความเร็วมากกว่า 4 มัค แต่ระยะหวังผลสูงสุดนั้นมากกว่า 200 กิโลเมตร 


ราคาและความนิยมของเครื่องบินรบ JAS 39 Gripen E/F

จากรายงานข่าวก่อนหน้านี้ เครื่องบินรบ Gripen E/F นั้นมีราคาลำละประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วน F-16 Block 70 ราคาลำละประมาณ 5,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ราคาที่รายงานไม่ใช่ราคากลาง เพราะกองทัพอากาศแต่ละประเทศ ต่างก็มีความต้องการที่แตกต่างกันไป รวมถึงข้อเสนอเพิ่มเติมทางเศรษฐกิจ (Offset agreement) ที่แต่ละประเทศต้องการก็ต่างกันด้วย


ทั้งนี้ในปัจจุบัน JAS 39 Gripen ทุกรุ่นย่อยนั้นมีประจำการทั่วโลกรวมกันไม่น้อยกว่า 270 ลำ โดยมีโรงงานผลิตของซาร์บ (Saab) ที่เป็นผู้พัฒนาในประเทศสวีเดน และบราซิลที่ใช้ในกองทัพอากาศ และเป็นอีกโรงงานที่ร่วมมือกับ Saab ในการผลิต ตลอดจนประจำการในสาธารณรัฐเช็ก แอฟริกาใต้ ฮังการี ไทย และใช้ฝึกบินในกองทัพอากาศของประเทศอังกฤษอีกด้วย



ภาพจาก Saab

ข่าวแนะนำ