ยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นดีล Boeing แทนคุก หลังพบมีปัญหาคุณภาพและเทคโนโลยี เชื่อมโยงอดีตอุบัติเหตุพรากชีวิตยกลำรวม 346 คน
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอใหม่กับ Boeing แทนการไต่สวน หลังปัญหาต้นปีซ้ำรอยการควบคุมคุณภาพและเทคโนโลยี ขณะที่ญาติจากอุบัติเหตุ Boeing ในปี 2018 - 2019 ไม่พอใจกับข้อเสนอดังกล่าว
เว็บไซต์อินเทอร์เรสติง เอ็นจิเนียริง (Interesting Engineering) รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา (US Department of Justice: DoJ) กำลังเตรียมแจ้งข้อหาฉ้อโกงคุณภาพการผลิตกับโบอิ้ง (Boeing) ผู้ผลิตอากาศยานชื่อดังอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการปรับ Boeing จากกรณีโศกนาฏกรรมกับเที่ยวบินที่ใช้เครื่องบินในตระกูล 737 MAX 2 ครั้ง ในช่วงปลายปี 2018 และต้นปี 2019 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 346 คน เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและคุณภาพการผลิตของ Boeing โดยไม่แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ในรายงานยังระบุด้วยว่า มีการเสนอทางออกที่อาจทำให้ Boeing ไม่ต้องโดนไต่สวน โดยการเลือกจ่ายค่าปรับ พร้อมกับการจำกัดสิทธิ์ต่าง ๆ แทน ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินตกทั้ง 2 ครั้ง เป็นอย่างมาก
อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยีของ Boeing
ในช่วงเดือนตุลาคมปี 2018 และเดือนมีนาคมปี 2019 เกิดอุบัติเหตุกับสายการบินไลออนแอร์ (Lion Air) และเอธิโอเปีย (Ethiopian Airlines) ตามลำดับ จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือจากทั้ง 2 ลำ เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติในระบบควบคุมการบิน (flight control system) ที่ปรับปรุงใหม่ของ Boeing ซึ่งเรียกว่า MCAS (Maneuvering Characteristics Augmentation System)
เหตุการณ์ครั้งนั้นค้นพบว่าเกิดจากการฉ้อโกงภายในบริษัท จากการจนส่งผลให้ระบบควบคุมการบินไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่ระบุไว้ DoJ จึงได้สั่งให้ Boeing จัดทำแผนป้องกันการฉ้อโกงที่เกี่ยวกับคุณภาพการผลิตภายในบริษัทในปี 2021 และ Boeing ยังต้องจ่ายค่าปรับให้กับองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration: FAA) ด้วย
อดีตปัญหาใหญ่ของ Boeing เกิดจากการแอบเปลี่ยนระบบเล็ก ๆ
MCAS (Maneuvering Characteristics Augmentation System) เป็นระบบที่ช่วยรักษาสมดุลของเครื่องบินกลางอากาศที่โบอิ้งใช้มาตั้งแต่ยุค 1960 ซึ่งเกี่ยวข้องกับมุมยกตัวเครื่องบิน หรือ Angle of Attack (AoA) ซึ่งเป็นมุมที่คำนวณเพื่อให้ปีกทำมุมกับกระแสลมและสร้างแรงยกกับลำตัวเครื่องบิน แม้ยิ่งมีค่ามากจะยิ่งดี แต่ถ้ามากเกินไป เครื่องบินจะสูญเสียแรงยก และเป็นเหตุให้เครื่องบินตกได้
และเนื่องจากมีการออกแบบเครื่องบิน Boeing 737 ใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ที่ใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการคำนวณของระบบ MCAS จึงต้องมีการปรับปรุงระบบดังกล่าวด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Boeing 737 MAX ก็คือการปรับแต่ง MCAS ที่ไม่ถูกต้อง เพราะใช้ข้อมูลของเครื่องยนต์ตัวเก่าเป็นปัจจัยคำนวณแทน ดังนั้น การปรับแก้มุม AoA จึงไม่ถูกต้อง
อีกทั้ง Boeing ต้องการให้สายการบินที่ใช้งานประหยัดต้นทุนการฝึกนักบินใหม่ รวมถึงประหยัดต้นทุนการผลิตระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะ FAA กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการควบคุม จะต้องมีการฝึกนักบินใหม่ด้วย ซึ่งทำให้คนที่รับผิดชอบบางส่วนปกปิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้นักบินเข้าใจได้ว่าสามารถบินเครื่องบินรุ่นใหม่ได้โดยไม่ต้องฝึกบินเพิ่มเติมอีกครั้ง
ข้อเสนอต่อ Boeing ที่เหยื่อจะไม่ยอมรับ
แม้ว่าปัญหา MCAS จะได้รับการแก้ไขในที่สุด แต่อุบัติเหตุประตูกลางลำหลุดของสายการบินอะแลสกา (Alaska Airlines) ที่ใช้เครื่องบิน 737 MAX ในช่วงต้นปี 2024 ซึ่งพบภายหลังว่าเกิดจากมีการใส่น็อตประตูไม่ครบ ทำให้ DoJ เชื่อว่า Boeing ไม่สามารถทำตามแผนที่สัญญาว่าจะควบคุมคุณภาพการผลิตไม่ให้ซ้ำรอยปัญหาเทคโนโลยี MCAS ได้ จึงมีการเตรียมไต่สวนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม รายงานโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ได้อ้างถึง พอล แคสเซลล์ (Paul Cassell) ตัวแทนทางกฎหมายของครอบครัว 15 ราย จากอุบัติเหตุในปี 2018-2019 ได้ออกมาเปิดเผยว่ามีการพูดคุยระหว่างตัวแทน Boeing, DoJ, และครอบครัวผู้เสียหาย ด้วยข้อเสนอให้ครอบครัวรับเงินชดเชย พร้อมกับกำหนดช่วงภาคฑันฑ์ (Probation period) ไม่ให้ Boeing ร่วมยื่นประมูลงานภาครัฐเป็นเวลา 3 ปี และมีมาตรการจับตาโดยให้ Boeing เป็นผู้สังเกตและรายงานต่อ DoJ
ยุคที่ยากลำบากของ Boeing
พอล แคสเซลล์ กล่าวว่า “เหล่าผู้บริสุทธิ์กว่า 346 ชีวิต ที่เป็นเหยื่อของ Boeing ต้องการความยุติธรรมมากกว่านี้” ในขณะที่เอริน แอปเปิลบัม (Erin Applebaum) ตัวแทนทางกฎหมายอีกคนกล่าวว่า “ข้อเสนออัปยศนี้ไม่แม้แต่จะระลึกถึงหรือให้เกียรติคนที่เป็นเหยื่อแม้แต่น้อย” พร้อมตั้งคำถามว่าหาก 737 MAX เกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากตัวเครื่องอีกครั้ง DoJ จะรับผิดชอบได้หรือไม่
Interesting Engineering รายงานว่า ข้อเสนอในครั้งนี้นับเป็นช่วงเวลายากลำบากครั้งหนึ่งของบริษัท ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนสงสัยต่อความสามารถในการรับงานจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของ Boeing อีกทั้งจากปัญหาเลื่อนการผลิต 737 MAX หลังอุบัติเหตุของ Alaska Airlines ตามที่ FAA สั่ง ก็ทำให้มูลค่าของ Boeing ในครึ่งแรกของปี 2024 หายไปกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 300,000 ล้านบาท ซึ่ง TNN Tech เห็นว่า หาก Boeing สามารถควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงพอ สถานการณ์ในปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปก็เป็นได้ โดยเฉพาะในเรื่องของชื่อเสียง ที่ยากจะกู้กลับมาได้ในเวลาอันสั้น
ข้อมูลจาก Interesting Engineering
ภาพจาก Wikipedia
ข่าวแนะนำ