วัสดุใหม่ ! พลาสติกจากข้าวบาร์เลย์ ย่อยสลายได้ 100% ในเวลา 2 เดือน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน พัฒนาพลาสติกชีวภาพแบบใหม่ จากแป้งข้าวบาร์เลย์ผสมกับเส้นใยหัวบีทรู้ต สามารถย่อยสลายได้ 100% ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้พัฒนาพลาสติกชีวภาพแบบใหม่ โดยผลิตจากแป้งข้าวบาร์เลย์ผสมกับเส้นใยหัวบีทรู้ต พลาสติกนี้แข็งแรงจนสามารถนำไปใช้เป็นถุงซื้อของ หรือบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ได้ รวมถึงสามารถย่อยสลายได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น
พลาสติกชีวภาพแบบใหม่นี้ เกิดจากส่วนผสมหลัก 2 ชนิดคือ คืออะมิโลสและเซลลูโลส ซึ่งเป็นเส้นใย (fiber) ที่พบได้ทั่วไปในพืช นำมาละลายและผสมให้เข้ากัน จากนั้นให้ความร้อนภายใต้ความดัน จนทำให้เกิดเม็ด หรือเศษเล็ก ๆ ขึ้นมา ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปและบีบอัดให้อยู่ในรูปแบบที่ต้องการได้
ทั้งนี้นักวิจัยก็ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถผลิตอะมิโลสบริสุทธิ์ในเมล็ดข้าวได้ ซึ่งอะมิโลสบริสุทธิ์ เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำจะมีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นแป้งน้อยกว่า
ส่วนเซลลูโลสเป็นเส้นใยที่มีองค์ประกอบของคาร์โบไฮเดรตที่พบได้ในพืชทุกชนิด ซึ่งมันถูกนำมาผลิตเป็นเส้นใยฝ้ายและลินิน รวมถึงกระดาษ ซึ่งเซลลูโลสที่นักวิจัยนำมาใช้ เรียกว่า นาโนเซลลูโลส ซึ่งได้มาจากขยะ จากการทำอุตสาหกรรมน้ำตาล และเส้นใยนาโนเซลลูโลสเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีส่วนทำให้พลาสติกมีความแข็งแรงเชิงกล โดยเมื่อนำอะมิโลสและเซลลูโลสมาผสมกันจะก่อให้เกิดสายโซ่โมเลกุลที่ยาวและแข็งแรง
ผลลัพธ์คือได้พลาสติกชีวภาพที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทนทานมากขึ้น และป้องกันน้ำได้ดีกว่าพลาสติกแบบชีวภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังเผยว่า พลาสติกชีวภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด รวมถึงไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ ผ่านกระบวนการในโรงงานหมักปุ๋ยอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่พลาสติกที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และย่อยสลายได้ 100% จากนั้นกลายไปเป็นปุ๋ยได้ คาดว่าวัสดุชนิดใหม่นี้จะเข้ามาช่วยลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากการผลิตพลาสติกได้
ทีมวิจัยเผยว่า พลาสติกแบบใหม่นี้เพิ่งเสร็จสิ้นกระบวนการวิจัย และใกล้เข้าสู่กระบวนการผลิตให้นำออกมาใช้งานทั่วไปได้แล้ว
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Copenhagen University
ที่มารูปภาพ Copenhagen University
ข่าวแนะนำ