โลกเดือดรุนแรง ! ปี 2023 มนุษย์ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น และปล่อยมลพิษพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
ปี 2023 มนุษย์ทั่วโลกใช้น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซจำนวนมาก ทั้งยังปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ล้านเมตริกตันเป็นครั้งแรก
ภาวะโลกร้อนถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์ตระหนักถึงและพยายามแก้ไขปัญหาอย่างมาก เช่น ข้อตกลงปารีส (The Paris Agreement) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2016 เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Pre-Industrial Levels)
แต่ดูเหมือนว่าความพยายามของมนุษย์บนโลกจะยังไม่มากพอ เมื่อรายงานการทบทวนสถิติพลังงานโลกในภาคส่วนอุตสาหกรรม (the industry's Statistical Review of World Energy report) ของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ โดยสถาบันพลังงานสหรัฐฯ ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2024 เผยว่าในปี 2023 มนุษย์บนโลกเราใช้ปริมาณน้ำมัน ถ่านหินและก๊าซจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการเพิ่มมลพิษให้โลกสูงเป็นประวัติการณ์
โดยพบว่าในปี 2023 มีการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับกรใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากปี 2022 โดยมลพิษเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ล้านเมตริกตันเป็นครั้งแรก สืบเนื่องมาจากการใช้เชื้อเพลงฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหินและแก๊สเพิ่มขึ้น จากปี 2022 ร้อยละ 1.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำมัน ในปี 2023 คนทั่วโลก มากกว่า 100 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นครั้งแรก ส่วนผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกยังคงเป็นสหรัฐฯ ที่เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 8 ในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ในประเทศจีน มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ใหม่ โดยในปี 2023 ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เนื่องจากหลังจากยกเลิกล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้เกิดการฟื้นตัวของการใช้เชื้อเพลิง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานในรูปอื่น ๆ สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของจีนถือว่าลดลง เพราะปริมาณพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้ ชี้ว่ามนุษย์มีการพัฒนาในเชิงบวก คือ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกลุ่มประเทศพัฒนาหลัก (Major advanced ecomonies) มีแนวโน้มว่าจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุด (Peak) ก่อนที่จะตกลงมา โดยในสหรัฐฯ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงเหลือร้อยละ 80 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ไป ส่วนในยุโรป ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงมาเหลือต่ำกว่าร้อยละ 70 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งก็เป็นผลมาจากความก้าวหน้าของพลังงานหมุนเวียน
ปัจจุบันพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน ก็เพิ่มขึ้นทำลายสถิติเช่นกันในปี 2023 ด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียนโดยไม่รวมไฮโดรพาวเวอร์ (Hydropower) ของทั้งโลก พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 โดยพลังงานที่สำคัญคือพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ความต้องการด้านพลังงานของโลกก็เพิ่มขึ้นควบคู่ตามไปด้วย โดยในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ทำให้พลังงานหมุนเวียนยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ดังนั้นจึงยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่อย่างแพร่หลาย
ในขณะเดียวกัน ความร้อนที่รุนแรงสุดขีด (Brutal Extreme Heat) กำลังเผาผลาญโลก นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นแตกต่างจากเมื่อทศวรรษที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐกำลังเผชิญปัญหาไฟป่า พายุ และน้ำท่วมรุนแรง หรือล่าสุดพิธีแสวงบุญฮัจญ์ประจำปีที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย คลื่นความร้อนก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,300 คน
จูเลียต ดาเวนพอร์ท (Juliet Davenport) ประธานสถาบันพลังงานกล่าวว่า ปีที่แล้วมนุษย์เราใช้พลังงานอย่างหิวโหย และกล่าวเสริมว่า พลังงานถือเป็นศูนย์กลางของความก้าวหน้าของมุนษย์ และตอนนี้ก็เป็นศูนย์กลางของความอยู่รอดของมนุษย์เช่นกัน
ทั้งนี้ มนุษย์มีเป้าหมายคือการควบคุมอุณหภูมิโลกหลังจากปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งโลกจะต้องลดการปล่อยมลพิษภายในสิ้นปี 2030 หรือก็คืออีก 6 ปีข้างหน้านี้
ที่มาข้อมูล Edition.CNN, Reuters
ที่มารูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ