ค้นพบครั้งแรก ! ไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชาย
นักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชายครั้งแรก โดยเป็นไมโครพลาสติก 7 ชนิดที่แตกต่างกันในตัวอย่างเนื้อเยื่ออวัยวะเพศชาย 4 ใน 5 ตัวอย่าง อาจเป็นต้นเหตุของการเสื่อมสมรรถนะทางเพศ
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐอเมริกา เจอที่อาจทำให้มนุษย์เราตระหนักเกี่ยวกับร่างกายมากขึ้น โดยได้ค้นพบไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชายของมนุษย์เป็นครั้งแรก
งานวิจัยนี้ได้ตรวจสอบตัวอย่างเนื้อเยื่ออวัยวะเพศชาย ของผู้ป่วยภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED หรือ Erectile Dysfunction) จำนวน 5 คน ที่กำลังรอการผ่าตัดรักษาอาการในมหาวิทยาลัยไมอามีระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2023 จากนั้นวิเคราะห์ตัวอย่างโดยใช้ภาพถ่ายทางเคมี ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ พบไมโครพลาสติก 7 ชนิดที่แตกต่างกันในตัวอย่างเนื้อเยื่อมากถึง 4 ใน 5 ตัวอย่าง ส่วนไมโครพลาสติกชนิดที่พบมากที่สุด ได้แก่ โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate (PET) หรือรู้จักในชื่อโพลีเอสเตอร์ เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งนิยมใช้ในขวดเครื่องดื่มและภาชนะบรรจุอาหาร หรือเส้นใยสังเคราะห์สำหรับเสื้อผ้า) และ โพลีโพรพีลีน (Polypropylene หรือ PP พลาสติกชนิดหนึ่ง นิยมใช้สร้างบรรจุภัณฑ์ เช่น ภาชนะบรรจุอาการและฝาขวด รวมถึงอาจใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น เชือก พรม)
รันจิธ รามาซามี (Ranjith Ramasamy) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะสืบพันธุ์ ผู้เขียนงานวิจัยนี้กล่าวว่าเขาไม่แปลกใจเลยที่พบไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชาย เนื่องจากมันเป็น “อวัยวะที่มีหลอดเลือดมาก” เช่นเดียวกับหัวใจ และเขาหวังว่าการค้นพบครั้งนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักให้มนุษย์เราในเรื่องที่ว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในอวัยวะของมนุษย์ รวมไปถึงเขาต้องการส่งเสริมงานวิจัยในหัวข้อนี้ด้วย
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร IJIR: Your Sexual Medicine Journal ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่าไมโครพลาสติกที่พบในอวัยวะเพศชายจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง เช่น อาจเป็นต้นเหตุในการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือไม่ เป็นต้น
สำหรับไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่มีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร หรือก็คือเทียบเท่าประมาณเมล็ดงา พวกมันจะเกิดขึ้นหลังจากที่พลาสติกชิ้นใหญ่ ๆ ย่อยสลาย ทั้งการย่อยสลายทางเคมีหรือการสึกหรอทางกายภาพ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อนุภาคขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้ สามารถเข้าไปเจือปนในเซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะสำคัญ ๆ ได้ และมีหลักฐานยืนยันว่าอนุภาคเหล่านี้เข้ามาปะปนอยู่ในร่างกายของเรามากขึ้น
ด้านกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund หรือ WWF) ได้เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า มนุษย์เรากินไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายเฉลี่ยประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือก็คือเทียบเท่ากับปริมาณพลาสติกของบัตรเครดิตขนาดมาตรฐาน ซึ่งไมโครพลาสติกเหล่านี้ เจือปนอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลก เช่น มหาสมุทร พื้นดินและอนุภาคในอากาศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ด้านสาธารณสุขของประเทศจีน เพิ่งจะค้นพบไมโครพลาสติกในน้ำอสุจิ รวมถึงยังมีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกที่พบไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชายส่วนอัณฑะของมนุษย์ด้วย
ทั้งนี้ แมทธิว เจ. แคมเปน (Matthew J. Campen) นักพิษวิทยา ศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่านี่คือ “การศึกษาที่น่าสนใจที่ยืนยันว่าพลาสติกได้กระจายเข้ามาอยู่ในร่างกายของมนุษย์อย่างแพร่หลายแล้ว” และกล่าวเสริมว่า “โดยทั่วไปแล้วพลาสติกจะไม่ทำปฏิกิริยากับเซลล์และสารเคมีในร่างกายของเรา แต่อาจส่งผลเสียในกระบวนการอื่น ๆ นั่นอาจจะรวมไปถึงเป็นต้นเหตุให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือเกี่ยวข้องกับการผลิตสเปิร์มก็ได้”
สำหรับการป้องกันเบื้องต้น เพื่อลดความเสี่ยงในการนำไมโครพลาสติกเข้ามาในร่างกายของเรา ดร.เลโอนาร์โด ตราซานเด (Dr. Leonardo Trasande) ผู้อำนวยการฝ่ายกุมารเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กแนะนำว่า “ให้ลดการใช้พลาสติกเป็นภาชนะบรรจุอาหาร แล้วให้เลี่ยงไปใช้ภาชนะสแตนเลสหรือแก้วแทน นอกจากนี้คือให้เลี่ยงการอุ่นอาหารหรือเครื่องดื่มที่บรรจุอยู่ในพลาสติก เช่น นมผงหรือนมแม่ที่ปั๊มบรรจุใส่ขวดพลาสติก รวมถึงอย่านำพลาสติกใส่เครื่องล้างจาน เพราะความร้อนอาจทำให้สารเคมีรั่วไหลออกมาได้”
ที่มาข้อมูล CNN
ที่มารูปภาพ Freepik, Reuters
ข่าวแนะนำ