TNN สก็อตแลนด์คิดเทคโนโลยี "HotTwist" ดึงความร้อนจากแหล่งน้ำ ประหยัดไฟฟ้าได้ 75%

TNN

Tech

สก็อตแลนด์คิดเทคโนโลยี "HotTwist" ดึงความร้อนจากแหล่งน้ำ ประหยัดไฟฟ้าได้ 75%

สก็อตแลนด์คิดเทคโนโลยี HotTwist ดึงความร้อนจากแหล่งน้ำ ประหยัดไฟฟ้าได้ 75%

น้ำ เก็บพลังงานความร้อนได้ดีกว่าอากาศถึง 3,400 เท่า จึงเป็นที่มาให้บริษัท SeaWarm ในสก็อตแลนด์ พัฒนาเทคโนโลยี HotTwist เพื่อน้ำความร้อนจากแหล่งน้ำมาใช้

“น้ำ” เป็นตัวกลางที่สามารถกักเก็บพลังงานความร้อนได้มหาศาล ดังนั้น ซีวอร์ม (SeaWarm) บริษัทสตาร์ตอัปจากประเทศสก็อตแลนด์ จึงพัฒนาวิธีการดึงความร้อนจากน้ำเพื่อนำเข้ามาทำความอบอุ่นในตัวอาคาร พบว่าสามารถช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 75


จากข้อมูลของบริษัท SeaWarm พบว่าน้ำสามารถกักเก็บพลังงานความร้อนได้มากกว่าอากาศที่มีปริมาตรเท่ากันถึง 3,400 เท่า ดังนั้นบริษัทจึงกำลังพัฒนาวิธีการเพื่อนำพลังงานความร้อนนี้มาใช้ประโยชน์


บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า ฮอตทวิสต์ (HotTwist) โดยเป็นถังเก็บน้ำ ด้านในถังมีท่อรูปทรงเกลียวที่มีไกลคอลไหลผ่าน (ไกลคอลคือสารอินทรีย์ประเภทหนึ่ง เป็นของเหลวสำหรับแลกเปลี่ยนความร้อนที่ใช้ในระบบ) เมื่อน้ำถูกสูบเข้ามาในถัง ไกลคอลจะทำหน้าที่ดูดซับความร้อนที่กักเก็บในน้ำที่อยู่รอบ ๆ ท่อ เมื่อไกลคอลร้อนขึ้น จะถูกส่งไปยังปั๊มที่บริษัทพัฒนาขึ้น ในชื่อว่า ปั๊มความร้อนจากแหล่งน้ำ หรือ WSHP (Water Source Heat Pumps) ไกลคอลจะถูกบีบอัดจนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก จากนั้นจะถูกส่งไปจ่ายความร้อนให้อาคาร ทั้งนี้ เมื่อไกลคอลเย็นลงจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าไปในตัวแลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อเริ่มต้นขั้นตอนใหม่ได้ 


ระบบนี้สามารถดึงความร้อนออกมาจากแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็น มหาสมุทร แม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำใต้ดิน หรือน้ำจากเหมือง โดย WSHP จะถูกนำไปวางไว้ใกล้แหล่งน้ำประมาณ 500 เมตร 


บริษัท SeaWarm ได้นำระบบนี้ไปทดลองใช้จริงแล้ว 3 ครั้ง โดยจ่ายความร้อนให้กับพิพิธภัณฑ์ อาคารกระจก และบ้านจัดสรรในค่ายทหารเรือเก่า ผลลัพธ์ตัวอย่างเช่น กรณีที่นำไปใช้กับพิพิธภัณฑ์สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าขององค์กรลงได้มากถึงร้อยละ 75 ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจมาก แม้จะใช้ไม่ได้ทุกพื้นที่เนื่องจากต้องใช้ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ แต่ก็นับว่าเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปเป็นพลังงานสะอาด เพื่อโลกที่ยั่งยืนมากขึ้น


ที่มาข้อมูล NewAtlas

ที่มารูปภาพ Pexels

ข่าวแนะนำ