TNN จีนติด “กังหันลม” ขนาด 18 MW สำเร็จเป็นรายแรกของโลก กำลังการผลิตเทียบเท่าจ่ายไฟให้บ้านปีละ 36,000 หลัง

TNN

Tech

จีนติด “กังหันลม” ขนาด 18 MW สำเร็จเป็นรายแรกของโลก กำลังการผลิตเทียบเท่าจ่ายไฟให้บ้านปีละ 36,000 หลัง

จีนติด “กังหันลม” ขนาด 18 MW สำเร็จเป็นรายแรกของโลก กำลังการผลิตเทียบเท่าจ่ายไฟให้บ้านปีละ 36,000 หลัง

บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ (MW) ได้เป็นครั้งแรกของโลก บริเวณชายฝั่งในมณฑลกวางตุ้ง

โต้งฝาง อิเล็กทริก คอร์ปอเรชัน (Dongfang Electric Corporation: DEC) บริษัทรัฐวิหสาหกิจด้านพลังงานจากจีน ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ (MW) ได้เป็นรายแรกของโลก ณ บริเวณชายฝั่งในมณฑลกวางตุ้ง พร้อมคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตที่ได้จะสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนกว่า 36,000 ครัวเรือนต่อปี 


ข้อมูลกังหันลม 18 MW ตัวแรกของโลกจากจีน

กังหันลมดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัดอยู่ที่ 260 เมตร มีพื้นที่รับลมรวมกว่า 53,000 ตารางเมตร หรือมากกว่า 7 เท่า ของสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน โดยทางบริษัทระบุว่า กังหันลมดังกล่าวยังสามารถผลิตไฟฟ้าในอัตรา 20 MW ได้ หากเป็นวันที่มีกระแสลมเพียงพออีกด้วย


ทาง DEC ระบุว่า กังหันลมที่อยู่บริเวณชายฝั่งในมณฑลกวางตุ้งจะสามารถผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปีได้ 72 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าสำหรับ 36,000 ครัวเรือนตลอดทั้งปี และลดการเผาไหม้ถ่านหินได้กว่า 22,000 ตัน เทียบได้กับการลดการปล่อยคาร์บอนถึง 59,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (t CO2 eq.) โดยการติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา


แนวทางการพัฒนากังหันลมในจีนเทียบกับโลกตะวันตก

ทั้งนี้ เว็บไซต์อินเทอร์เรสติง เอ็นจิเนียริง (Interesting Engineering) ให้ความเห็นว่าการพัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าในจีนมีความแตกต่างจากส่วนอื่นของโลก โดยอ้างถึงแผนการพัฒนากังหันลมจากฝั่งตะวันตก เช่น เวสทัส (Vestas) ผู้ผลิตกังหันลมชื่อดังจากเดนมาร์กที่ไม่มีแนวทางการพัฒนากังหันลมให้ใหญ่กว่า 16 MW ซึ่งเป็นขนาดเดียวกันกับแชมป์เก่ากังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากโกลด์วินด์ (Goldwind) ซึ่งก็ติดตั้งในจีนเช่นกัน บริเวณนอกชายฝั่งมณฑลฝูเจี้ยน


รวมไปถึง จีอี อิเล็กทริก (GE Electric) จากสหรัฐอเมริกาที่แม้เคยมีแผนพัฒนากังหันลมกำลังการผลิต 17 - 18 MW แต่สุดท้ายก็พับแผนและมุ่งเน้นการรักษาตลาดและเสริมกำลังการผลิตกังหันลมของบริษัทที่มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องในปัจจุบันแทน


ในขณะที่จีน นอกจากจะเน้นการพัฒนาโดยการขยายขนาดใบพัดเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว ยังมีการพัฒนาให้ใบพัดสามารถผลิตพลังงานได้ต่อเนื่องและยาวนานมากขึ้นแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่กระแสลมอ่อนแรงก็ตามด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมกังหันลมผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน


ข้อมูลจาก Interesting EngineeringEuronews

ภาพจาก DEC


ข่าวแนะนำ