TNN ยาน ​Starliner ของ Boeing ส่งนักบินอวกาศ 2 คน ขึ้นสู่อวกาศ

TNN

Tech

ยาน ​Starliner ของ Boeing ส่งนักบินอวกาศ 2 คน ขึ้นสู่อวกาศ

ยาน ​Starliner ของ Boeing ส่งนักบินอวกาศ 2 คน ขึ้นสู่อวกาศ

ยาน ​Starliner ของบริษัท Boeing เริ่มเที่ยวบินแรกส่งนักบินอวกาศ 2 คน ขึ้นสู่อวกาศ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในรอบ 14 ปี หลังจากเปิดตัวยานอวกาศ Starliner ครั้งแรกในปี 2010

วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ของบริษัท Boeing ประสบความสำเร็จส่งนักบินอวกาศ 2 คน ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยใช้บริการจรวดขนส่งอวกาศ Atlas V จากฐานปล่อยจรวดหมายเลข LC41 สถานีกองทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในรอบ 14 ปี หลังจากเปิดตัวยานอวกาศ Starliner ครั้งแรกในปี 2010

สำหรับเที่ยวบินแรกที่มีนักบินอวกาศของยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) นาซาได้เลือกนักบินอวกาศแบร์รี "บุทช์" วิลมอร์ (Butch Wilmore) และซูนี วิลเลียมส์ (Suni Williams) อดีตนักบินทดสอบกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา โดยทั้ง 2 คน มีชั่วโมงบินกว่า 11,000 ชั่วโมง และผ่านการฝึกซ้อมการทำภารกิจยานสตาร์ไลเนอร์เป็นเวลาหลายเดือนนับจากปี 2023 ที่ผ่านมา หลังจากนี้ยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์พร้อมนักบินอวกาศทั้ง 2 คน จะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และคาดว่าจะทำภารกิจต่าง ๆ อยู่บนสถานีอวกาศนานประมาณ 8 วัน 

ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Boeing โครงสร้างยานมีความยาว 5.03 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 4.56 เมตร ภารกิจหลักของยานอวกาศลำนี้คือการขนส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลก เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ยาวอวกาศลำนี้รองรับนักบินอวกาศได้ 4-7 คน ขึ้นอยู่กับภารกิจ รองรับการบินในอวกาศได้ประมาณ 60 ชั่วโมง และเชื่อมต่อสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นเวลาประมาณ 210 วัน 

หากการเชื่อมต่อสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เสร็จสมบูรณ์ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) จะเป็นยานอวกาศลำที่ 2 ของบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาที่สามารถเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ได้สำเร็จ ต่อจากยานอวกาศครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ภายใต้โครงการลูกเรือเชิงพาณิชย์ (Commercial Crew) ของนาซา

ก่อนหน้านี้ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) มีกำหนดการเดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 17 พฤษภาคม แต่เกิดข้อผิดพลาดเกี่ยวกับวาล์วเชื้อเพลิง ทำให้ต้องนำยานกลับเข้าโรงประกอบเพื่อปรับเปลี่ยนวาล์วตัวใหม่ ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน ขณะยานสตาร์ไลเนอร์นับถอยหลังเพื่อปล่อยตัวออกจากฐานปล่อยจรวดทีมงานได้ตรวจพบการรั่วไหลของฮีเลียม ในตัวขับดันตัวหนึ่งบริเวณโมดูลบริการของยานอวกาศ Starliner ทีมงานจึงตัดสินใจเลื่อนการปล่อยมาเป็นวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของการทำภารกิจและชีวิตของนักบินอวกาศทั้ง 2 คน

ภารกิจการเดินทางขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบินอวกาศ 2 คน ของยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner)ในครั้งนี้เป็นภารกิจทดสอบยานเท่านั้น ส่วนภารกิจการขนส่งนักบินอวกาศชุดแรกอย่างเป็นทางการขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS คาดว่าอาจมีขึ้นในปี 2025 ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) นับเป็นยานอวกาศรุ่นใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานซ้ำได้ โดยยานจะลงจอดบนโลกด้วยร่มชูชีพและเบาะอากาศกลางทะเลทรายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแตกต่างจากยานครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่ใช้การลงจอดบนผิวน้ำมหาสมุทร


ที่มาของข้อมูล Space.com

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ