รู้หรือไม่ ? ออกซิเจนส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตจาก "ต้นไม้" แต่มาจาก "มหาสมุทร"
หากคิดว่าต้นไม้คือปอดของโลก คุณอาจคิดผิด เพราะงานวิจัยเผย มหาสมุทรสร้างออกซิเจนให้โลกอย่างน้อยร้อยละ 50
เมื่อพูดสิ่งที่สามารถผลิตออกซิเจนให้โลกของเราได้มากที่สุด หลาย ๆ คนคงคิดว่าเป็นต้นไม้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะออกซิเจนส่วนใหญ่ หรือก็คืออย่างน้อยร้อยละ 50 (บางการศึกษาอาจชี้ว่าประมาณร้อยละ 80) บนโลกของเราผลิตมาจากมหาสมุทร
โดยสิ่งที่รับผิดชอบผลิตออกซิเจนให้โลกก็คือแพลงก์ตอน ซึ่งไม่ได้หมายถึงสิ่งมีชีวิตเพียงสปีชีส์เดียวเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหลากหลายชนิด เช่น พืชลอยน้ำ สาหร่าย และแบคทีเรียบางชนิดที่สามารถสังเคราะห์แสงได้
ในบรรดาแพลงก์ตอนนี้เอง มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทร คือแบคทีเรียที่ชื่อว่า โปรคลอโรคอคคัส (Prochlorococcus) เป็นสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์แสงที่เล็กที่สุดในโลก พบได้ตั้งแต่ตามผิวน้ำไปจนถึงระดับน้ำลึกทั่วโลก แต่แบคทีเรียจิ๋วนี้สามารถสร้างออกซิเจนได้มากกว่าร้อยละ 20 ของออกซิเจนทั้งหมดบนโลก ซึ่งปริมาณนี้คือเยอะกว่าออกซิเจนที่ป่าฝนทั้งหมดบนพื้นดินผลิตรวมกันเสียอีก
อย่างไรก็ตาม แม้ทะเลจะผลิตออกซิเจนเยอะ แต่ก็อาจจะไม่ได้ส่งมาให้สิ่งมีชีวิตบนบกใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะสัตว์ในทะเลก็ใช้ออกซิเจนเยอะเช่นกัน ทั้งใช้ในการหายใจ และใช้ในกระบวนการย่อยสลายเมื่อเสียชีวิต แต่สัตว์บกจะใช้ออกซิเจนส่วนใหญ่จากออกซิเจนที่สะสมไว้บนชั้นบรรยากาศยาวนานหลายร้อยล้านปีในการหายใจนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ได้รู้แล้วว่ามหาสมุทรนั้นมีความสำคัญต่อโลกของเรามาก ๆ ดังนั้นเราต้องช่วยกันดูแลรักษามหาสมุทรให้สะอาดจนเอื้อแก่การดำรงอยู่ของสัตว์ทะเล การผลิตออกซิเจนและกระบวนการอื่น ๆ ด้วย เพื่อความยั่งยืนของโลกของเรานั่นเอง
ที่มาข้อมูล Oceanservice.noaa, EOS, Thomasnet
ที่มารูปภาพ Freepik
ข่าวแนะนำ