3 มิถุนายน 2508 ภารกิจ Gemini 4 การเดินอวกาศครั้งแรกของชาวอเมริกัน
3 มิถุนายน ภารกิจ Gemini 4 การเดินในอวกาศครั้งแรกโดยชาวอเมริกัน โดยนักบินอวกาศเจมส์ แมคดิวิตต์ และนักบินอวกาศเอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์
3 มิถุนายน 2508 วันนี้เมื่อ 59 ปีก่อน นาซาเริ่มต้นภารกิจ Gemini 4 ส่งยานอวกาศ Gemini SC4 พร้อมนักบิน 2 คน ขึ้นสู่วงโคจรของโลก นับเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของโครงการอวกาศ Gemini ต่อเนื่องจากโครงการ Mercury ของสหรัฐอเมริกา โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบยานอวกาศ พัฒนาวิธีการเดินอวกาศ (EVA) และขั้นตอนการบินของยานในอวกาศ โดยถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมพร้อมสำหรับโครงการ Apollo ที่จะพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์
นักบินอวกาศที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำภารกิจ Gemini 4 ประกอบไปด้วยนักบินอวกาศเจมส์ แมคดิวิตต์ (James McDivitt) มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับการยานอวกาศ และนักบินอวกาศเอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์ (Edward H. White II) มีตำแหน่งเป็นนักบิน ยานอวกาศ Gemini SC4 เดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด Titan ll GLV จากฐานปล่อยจรวดหมายเลข LC-19 ฐานทัพอากาศ บริเวณแหลมคะแนเวอรัล ประเทศสหรัฐอเมริกา
การเดินอวกาศครั้งแรกของนักบินอวกาศอเมริกัน
การเดินอวกาศโดยนักบินอวกาศเอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2508 ไม่ใช่การเดินอวกาศครั้งแรกของโลก แต่เป็นการเดินอวกาศครั้งแรกของนักบินอวกาศอเมริกัน ส่วนการเดินอวกาศครั้งแรกของโลกนั้นเกินขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2508 โดยอเล็กเซย์ เลโอนอฟ (Alexei Leonov) นักบินอวกาศโซเวียต เขาได้เดินอวกาศออกจากยานวอสคอด 2 (Voskhod 2) และทำการเดินอวกาศเป็นเวลาประมาณ 12 นาที
เหตุการณ์สำคัญในภารกิจ Gemini 4
นักบินอวกาศเอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์ ได้ทำการเดินอวกาศ (EVA) ขณะยานโคจรเหนือประเทศออสเตรเลีย เขาใช้เวลาเดินอวกาศนาน 23 นาที ภายนอกยานโดยใช้อุปกรณ์พิเศษในการเคลื่อนที่บนอวกาศ และบันทึกภาพเป็นหลักฐานสำคัญการทำภารกิจ
ในระหว่างการเดินอวกาศ (EVA) นักบินอวกาศเอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์ ประสบปัญหาด้านการสื่อสารบริเวณสวิตช์ควบคุมเสียง (VOX) ทำให้นักบินอวกาศเอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์ ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้ แต่เขายังสามารถสื่อสารกับนักบินอวกาศเจมส์ แมคดิวิตต์ ซึ่งอยู่ในยานอวกาศ Gemini SC4 ได้ตลอดเวลา การเดินอวกาศเกิดขึ้นในช่วงที่ยานโคจรผ่านตำแหน่งพื้นผิวโลกที่รับแสงอาทิตย์ และจบลงเมื่อยานโคจรเข้าสู่ตำแหน่งที่พื้นผิวโลกกำลังมืดลง
นอกจากภารกิจเดินอวกาศ (EVA) นักบินอวกาศทั้ง 2 ยังได้ทำการทดลอง 11 ครั้ง บนอวกาศ เช่น การวัดการแผ่รังสีบนอวกาศ เครื่องวัดระยะตำแหน่งของตนเองโดยใช้ตำแหน่งดวงดาวบนอวกาศ การทดลองกล้องถ่ายภาพพื้นผิวโลก การวัดค่าไฟฟ้าสถิตในยานอวกาศ การใช้งานเครื่องวัดสนามแม่เหล็ก
ยาน Gemini SC4 เดินทางกลับโลก
หลังจากทำภารกิจนาน 4 วัน 1 ชั่วโมง 56 นาที โคจรรอบโลก 66 รอบ นักบินทั้ง 2 เดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย แม้ว่าตำแหน่งการลงจอดจะพลาดจากจุดนัดหมายประมาณ 80 กิโลเมตร แต่เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Wasp ก็มองเห็นตำแหน่งการลงจอดและส่งเครื่องบินไปทำการเก็บกู้ช่วยเหลือนักบินอวกาศทั้ง 2 คน ได้สำเร็จ เนื่องจากเป็นการเดินอวกาศ (EVA) ครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา ทำให้เมื่อนักบินอวกาศเดินทางกลับถึงโลกจะมีการตรวจร่างกายของนักบินอวกาศทั้ง 2 คน อย่างละเอียด โดยพบว่านักบินอวกาศทั้ง 2 คน มีอาการระคายเคืองตาเล็กน้อยจากปัญหาการรั่วไหลของแอมโมเนีย สารหน่วงการติดไฟที่ใช้ในห้องโดยสารของนักบินอวกาศ แต่ก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่มีนัยสำคัญ รวมไปถึงข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ
เกียรติประวัติและความทรงจำ
ภายหลังจากภารกิจประวัติศาสตร์ Gemini 4 นักบินอวกาศเจมส์ แมคดิวิตต์ (James McDivitt) ได้กลับขึ้นทำภารกิจบนอวกาศอีกครั้งในภารกิจ Apollo 9 เพื่อทดสอบการเชื่อมต่อยานอวกาศกับยานลงจอดบนดวงจันทร์ ขณะอยู่ในวงโคจรของโลก ภารกิจ Apollo 9 เป็นการทดสอบยานอวกาศครั้งสุดท้ายก่อนส่งยานอวกาศพร้อมนักบินอวกาศเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 10 และการส่งยานอวกาศพร้อมนักบินอวกาศเดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์ในปีภารกิจ Apollo 11
ส่วนนักบินอวกาศเอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์ (Edward H. White II) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo 1 เพื่อทำภารกิจนำยานอวกาศทดสอบโคจรรอบโลก อย่างไรก็ตาม ภารกิจ Apollo 1 เกิดเพลิงไหม้ขณะทดสอบบนฐานปล่อยจรวด ส่งผลให้นักบินอวกาศเอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์ เสียชีวิตพร้อมกับนักบินอวกาศอีก 2 คน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2510
การเสียชีวิตของนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo 1 กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ นาซาได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงความเสียสละของนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ในภารกิจ Apollo 1 เอาไว้บริเวณศูนย์อวกาศเคนเนดี นอกจากนี้ยังมีการนำแผ่นป้ายชื่อของนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ไปวางไว้บนดวงจันทร์ ร่วมกับนักบินอวกาศสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตอีก 11 คน ที่เสียชีวิตในระหว่างการทำภารกิจอวกาศ ตลอดช่วงเวลาการแข่งขันเดินทางไปดวงจันทร์ที่ผ่านมา
ที่มาของข้อมูล Wikipedia.org, Science.nasa.gov
ข่าวแนะนำ