แนวคิดมอเตอร์ไซค์บินได้ UDX Airwolf ใบพัดแบบปรับทิศทางได้และทำความเร็ว 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แนวคิดมอเตอร์ไซค์บินได้ UDX Airwolf ใบพัดแบบปรับทิศทางได้และทำความเร็ว 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
บริษัท ยูดีเอ็กซ์ (UDX) สตาร์ตอัปในประเทศเช็ก เปิดตัวแนวคิดมอเตอร์ไซค์บินได้ยูดีเอ็กซ์ แอร์วูล์ฟ (UDX Airworlf) รองรับการบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง พร้อมความพิเศษด้วยระบบขับเคลื่อนใบพัดแบบปรับทิศทางได้ ช่วยให้การบินทำได้คล่องแคล่วมากขึ้นราวกับนกฮัมมิ่งเบิร์ด นกที่เล็กที่สุดในโลก ตามแนวคิดที่บริษัทนำเสนอ
โครงสร้างของมอเตอร์ไซค์บินได้ยูดีเอ็กซ์ แอร์วูล์ฟ (UDX Airworlf) มีน้ำหนัก 230 กิโลกรัม มอเตอร์ไฟฟ้าสามารถเร่งความเร็วจาก 0 - 96 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในเวลา 3 วินาที รวมไปถึงทำความเร็วสูงสุดได้มากถึง 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือเป็นระดับความเร็วเทียบได้กับรถแข่งฟอร์มูล่าวัน (Formula 1) ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จุดเด่นของมอเตอร์ไซค์บินได้ยูดีเอ็กซ์ แอร์วูล์ฟ (UDX Airworlf) อยู่ที่ระบบขับเคลื่อนใบพัดแบบปรับทิศทางได้ช่วยให้การยกตัวบินขึ้นกลายเป็นเรื่องง่าย และบริษัทยืนยันว่าวิธีการนี้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ช่วยให้มอเตอร์ไซค์บินได้เดินทางได้ระยะไกลมากขึ้น
ปัจจุบันบริษัทได้ออกแบบมอเตอร์ไซค์บินได้ยูดีเอ็กซ์ แอร์วูล์ฟ (UDX Airworlf) เสร็จเรียบร้อยแล้วบนคอมพิวเตอร์ และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาต้นแบบขนาดเล็ก หรือขนาดประมาณหนึ่งในสี่ส่วนของมอเตอร์ไซค์บินได้ของจริง ซึ่งบริษัทใช้ต้นแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นทดสอบระบบขับเคลื่อนใบพัดแบบปรับทิศทางได้ รวมไปถึงทดสอบความเสถียรและความคล่องตัวในการทดสอบบิน
หากการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ บริษัทได้ตั้งราคาของมอเตอร์ไซค์บินได้ยูดีเอ็กซ์ แอร์วูล์ฟ (UDX Airworlf) เอาไว้ที่ 320,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,757,900 ล้านบาท ซึ่งนับว่าราคาสูงและอาจเหมาะสมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเร็วและรูปแบบการเดินทางแบบใหม่ เพิ่มเติมจากรถยนต์ส่วนตัวที่มีใช้งานปกติอยู่แล้วที่บ้าน
ปัจจุบันนี้การเปิดตัวแนวคิดมอเตอร์ไซค์บินได้ ในลักษณะของโฮเวอร์ไบค์ หรือมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับการติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมใบพัดให้สามารถบินยกตัวลอยจากพื้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีหลายบริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ เช่น บริษัท Lazareth Auto Moto ที่เปิดตัวมอเตอร์ไซค์บินได้เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน และบริษัท Mayman Aerospace หรือชื่อเดิม Jetpack Aviation ก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้และได้รับความสนใจจากหน่วยงานด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ข่าวแนะนำ