TNN ผลิตกระแสไฟฟ้าจากโดรน ลดต้นทุนได้ 50% เมื่อเทียบกับกังหันลม

TNN

Tech

ผลิตกระแสไฟฟ้าจากโดรน ลดต้นทุนได้ 50% เมื่อเทียบกับกังหันลม

ผลิตกระแสไฟฟ้าจากโดรน ลดต้นทุนได้ 50% เมื่อเทียบกับกังหันลม

แนวคิดใหม่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากโดรนบินบนท้องฟ้าลดต้นทุนได้ 50% เมื่อเทียบกับกังหันลม เพราะใช้วัสดุและชิ้นส่วนลดลง 90%

บริษัท ไคท์มิลล์ (Kitemill) ประเทศนอร์เวย์นำเสนอวิธีการใหม่ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมโดยใช้โดรนที่บินอยู่บนท้องฟ้า สามารถลดต้นทุนได้ 50% เมื่อเทียบกับต้นทุนในการสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ เพราะใช้วัสดุและชิ้นส่วนลดลง 90% นอกจากนี้การใช้กระแสลมในระดับความสูงมากกว่าทำให้มีความเสถียรของการผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่ากระแสลมใกล้พื้นดิน


แนวคิดใหม่ถูกเรียกว่าระบบพลังงานในอากาศ (AWES) โดยการใช้โดรนขนาดเล็กไร้คนขับ (UAV) ติดตั้งใบพัด 4 ชุด ทำการบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง แต่จะถูกยึดติดสถานีภาคพื้นดินไว้ด้วยสายเคเบิลคล้ายการเล่นว่าว โดรนบินในลักษณะหมุนควงสว่านเป็นวงกลมพร้อมค่อย ๆ เพิ่มระดับความสูงและความยาวของสายเคเบิลไปจนถึงระดับความสูง 350-500 เมตร ม้วนสายเคเบิลที่ถูกแรงดึงจากโดรนบนท้องฟ้าจะส่งแรงไปหมุนเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า 


เมื่อโดรนลอยขึ้นสู่ระดับความสูง 350-500 ระบบจะทำการขดสายเคเบิลกลับเพื่อดึงโดรนกลับลงมาในตำแหน่งที่เหมาะสมกับกระแสลมในช่วงเวลานั้น ๆ โดยใช้การคำนวณของระบบคอมพิวเตอร์และการวัดระยะความสูงด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ (Lidar) หรือการวัดระยะทางด้วยแสงเลเซอร์ 


ในกรณีที่พื้นที่ติดตั้งมีกระแสลมที่สม่ำเสมอ เช่น ริมชายฝั่งทะเลโดรนสามารถบินได้นานต่อเนื่องหลายชั่วโมง อย่างไรก็ตามบริษัทไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาที่โดรนบินได้นานสูงสุด หรืออายุการใช้งานของโดรน ส่วนกรณีที่มีสภาพอากาศเลวร้าย เช่น พายุ โดรนจะถูกดึงลงมาจัดเก็บในสถานีภาพพื้นดินโดยอัตโนมัติ


ปัจจุบันบริษัทพัฒนาต้นแบบออกมา 2 รุ่นด้วยกันประกอบด้วยโมเดล KM2 กำลังไฟฟ้า 100 kW (กิโลวัตต์) ซึ่งได้อัปเกรดจากโมเดล KM1 แต่บริษัทไม่เปิดเผยข้อมูลของโมเดล KM1



แนวคิดการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโดรนบินบนท้องฟ้านี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับลักษณะประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวและมีกระแสลมสม่ำเสมอ แต่มีทรัพยากรในการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่มากนัก โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


และเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น บริษัทได้ยินดีเปิดเผยข้อมูลและทำงานร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำไปใช้งานเพื่อพัฒนาต่อยอด เช่น ทีมงานนักวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักรที่ได้ทำงานร่วมกับบริษัทอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใหม่นี้ให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงทีมงานนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ลอสที่ 3 (Carlos III) กรุงมาดริด ประเทศสเปน



ที่มาของข้อมูล Crowdcube.com, Kitemill.com


ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ