TNN ระบบหุ่นยนต์เปลี่ยนศีรษะมนุษย์ ร่างเก่าป่วยก็เปลี่ยนใหม่ ตั้งเป้าใช้งานได้จริงภายใน 8 ปี

TNN

Tech

ระบบหุ่นยนต์เปลี่ยนศีรษะมนุษย์ ร่างเก่าป่วยก็เปลี่ยนใหม่ ตั้งเป้าใช้งานได้จริงภายใน 8 ปี

ระบบหุ่นยนต์เปลี่ยนศีรษะมนุษย์ ร่างเก่าป่วยก็เปลี่ยนใหม่ ตั้งเป้าใช้งานได้จริงภายใน 8 ปี

สตาร์ตอัปจากสหรัฐฯ เผยแนวคิดหุ่นยนต์ AI ที่จะเปลี่ยนศีรษะจากร่างเก่า ไปยังอีกร่าง เป้าหมายคือเพื่อเป็นการมอบความหวังในการมีชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถรักษาได้

หากพูดถึงหุ่นยนต์ที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายศีรษะมนุษย์ ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนฉากในหนังสยองขวัญสักเรื่อง แต่มันอาจจะเกิดขึ้นจริงแล้วในอนาคตอันใกล้ โดยบริษัทสตาร์ตอัปด้านประสาทและวิศวกรรมชีวการแพทย์จากสหรัฐอเมริกาอย่าง เบรนด์บริดจ์ (BrainBridge) ที่เพิ่งเปิดเผยแนวคิดออกมา เป้าหมายคือเพื่อเป็นการมอบความหวังในการมีชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น มะเร็งระยะที่ 4 อัมพาต และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์และพาร์กินสัน สำหรับแนวคิดนี้ บริษัทคาดหวังว่าจะสามารถใช้งานได้จริงภายใน 8 ปี 


BrainBridge วางแผนที่จะใช้ระบบหุ่นยนต์เพื่อเปลี่ยนศีรษะจากร่างกายหนึ่ง ไปยังอีกร่างกายหนึ่งที่เข้ากันได้ การผ่าตัดจะดำเนินการโดยอัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ (AI algorithms) ที่จะสั่งให้แขนหุ่นยนต์ถอดศีรษะออกจากร่างกายเก่า ไปยังร่างกายใหม่ ระหว่างการเปลี่ยนถ่ายนั้น ก็จะมีระบบรักษาสภาพสมองไม่ให้เสียหาย เมื่อไปถึงร่างกายใหม่แล้วก็จะมีการเชื่อมต่อไขสันหลัง เส้นประสาท และหลอดเลือด มีกาวเคมีและโพลีเอทิลีนไกลคอลที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวเชื่อมประสาน จากนั้นเมื่อผ่าตัดเสร็จสิ้นผู้ป่วยก็จะสวมแถบคาดศีรษะ (The BrainBridge Head Band) ที่เป็นอินเทอร์เฟซในการสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสื่อสารความต้องการของตนในระหว่างการฟื้นตัว

ระบบหุ่นยนต์เปลี่ยนศีรษะมนุษย์ ร่างเก่าป่วยก็เปลี่ยนใหม่ ตั้งเป้าใช้งานได้จริงภายใน 8 ปี

ระบบหุ่นยนต์เปลี่ยนศีรษะมนุษย์ ร่างเก่าป่วยก็เปลี่ยนใหม่ ตั้งเป้าใช้งานได้จริงภายใน 8 ปี


ระบบหุ่นยนต์เปลี่ยนศีรษะมนุษย์ ร่างเก่าป่วยก็เปลี่ยนใหม่ ตั้งเป้าใช้งานได้จริงภายใน 8 ปี


ผู้ก่อตั้งบริษัทคือฮาชิม อัล-ไกลี (Hashem Al-Ghaili) นักชีววิทยาโมเลกุลจากเบอร์ลิน เยอรมนี ซึ่งในภายหลังผันตัวมาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ นักเขียน และนักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ เขาเปิดเผยว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ประกาศระบบการปลูกถ่ายศีรษะแนวคิดแรกของโลก ซึ่งได้ผสานรวมการทำงานของหุ่นยนต์ขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อดำเนินขั้นตอนการปลูกถ่ายศีรษะและใบหน้าแบบครบวงจร ระบบที่ล้ำสมัยนี้มอบความหวังใหม่ให้กับผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากสภาวะที่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น มะเร็งระยะที่ 4 อัมพาต และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์และพาร์กินสัน”


และเป็นเรื่องที่ต้องย้ำว่า นวัตกรรมของ BrainBridge ยังอยู่ในช่วงของ “แนวคิด” เท่านั้น และบริษัทเผยว่ากำลังอยู่ในช่วงสรรหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาพัฒนาโปรเจ็กต์นี้ 


ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์การแพทย์กลับไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อแนวคิดของ BrainBridge เท่าไหร่นัก นั่นเพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แนวคิดนี้มีการนำเสนอออกมา จินตนาการที่มนุษย์จะสามารถเปลี่ยนถ่ายศีรษะจากร่างกายหนึ่งไปยังอีกร่างกายหนึ่งมีมานานนับศตวรรษ


ในปี 1908 มีการบันทึกความพยายามที่จะปลูกถ่ายหัวให้กับสุนัขครั้งแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาในทศวรรษที่ 1950 วลาดิมีร์ เดมิคอฟ (Vladimir Demikhov) นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียก็ได้นำหัวของสุนัขตัวหนึ่ง มาต่อเข้ากับสุนัขอีกตัว กลายเป็นสุนัข 2 หัว แต่ในทางเทคนิคนี่ไม่เข้าข่ายเป็นการปลูกถ่ายศีรษะ


อีกกรณีเช่นในปี 2017 แพทย์ชาวอิตาลีชื่อ เซอร์จิโอ คานาเวโร (Sergio Canavero) ก็ตั้งเป้าที่จะปลูกถ่ายศีรษะมนุษย์จากร่างหนึ่งไปยังอีกร่างเช่นกัน แต่ผลลัพธ์คือร่างกายทั้ง 2 ทั้งของผู้รับบริจาคร่าง และผู้บริจาคร่าง เสียชีวิตทั้งคู่ 


ดังนั้นแล้ว สำนักข่าวเมโทร (Metro) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันการปลูกถ่ายศีรษะยังห่างไกลความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้ 


แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราก็ยังคงพยายามที่จะพัฒนาแนวคิดนี้ให้เป็นจริงขึ้นมา เหมือนกับความพยายามของ BrainBridge ในครั้งนี้ ซึ่งหากมันสำเร็จขึ้นมาจริง ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในการดำรงอยู่ของมนุษย์


ที่มาข้อมูล Metro, NewAtlas, BrainBridge

ที่มารูปภาพ BrainBridge

ข่าวแนะนำ