กังหันลมลอยน้ำ นวัตกรรมเพื่อการผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งที่ยั่งยืน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ พัฒนา “กังหันลมผลิตไฟฟ้าลอยน้ำ” สำหรับนำไปติดตั้งนอกชายฝั่ง หวังเป็นตัวช่วยในการผลิตไฟฟ้าแบบไม่ต้องฝังกังหันในทะเล เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดตั้งให้มากขึ้น
ทีมวิศวกรและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมน (University of Maine) ในประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าแบบลอยน้ำได้ เพื่อปรับปรุงการใช้งานกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่ง ให้ไม่ต้องฝังเสากังหันไว้ที่พื้นทะเล ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำไปติดตั้งใช้งานบริเวณทะเลลึกได้ง่ายยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบันทีมพัฒนาอยู่ระหว่างการทดสอบและสาธิตการใช้งาน ของกังหันลมลอยน้ำตัวต้นแบบ ที่มีความสูง 4 เมตร ในสระว่ายน้ำในร่ม เพื่อให้แน่ใจว่า ตัวกังหันนี้ จะสามารถทนต่อแรงคลื่นน้ำ และแรงลมอันทรงพลังได้ เมื่อมีการใช้งานกังหันลม ที่มีขนาดใหญ่กว่ามากในมหาสมุทร
ซึ่งกังหันลมลอยน้ำที่พัฒนาขึ้นนี้ จะมีการออกแบบระบบให้สามารถปิดใช้งานตัวเองได้โดยอัตโนมัติ เมื่อเจอกับคลื่นและพายุที่รุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อุปกรณ์เกิดการแตกหักเสียหาย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมได้มากขึ้น
สำหรับการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าแบบลอยน้ำนี้ เป็นนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจจะมีพื้นที่ทะเลที่ลึกเกินไป สำหรับการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่ง โดยจากข้อมูลของห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งชาติ (National Renewable Energy Laboratory) พบว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว มีศักยภาพพลังงานลมถึง 2.8 เทราวัตต์ (2.8 terawattsl) พัดผ่านน่านน้ำทะเล ที่มีความลึกเกิน กว่าที่จะติดตั้งกังหันลมแบบดั้งเดิมที่ยึดติดกับพื้นมหาสมุทร
ซึ่งพลังงานปริมาณนี้เพียงพอที่จะให้พลังงานแก่บ้านเรือนได้ถึง 350 ล้านหลัง มากกว่าจำนวนบ้านที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันถึงสองเท่า ทีมวิจัยจึงหวังว่าในอนาคต พวกเขาจะสามารถพัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าแบบลอยน้ำ ที่มีขนาดสูงมากกว่า 210 เมตร เพื่อเพิ่มกำลังในการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยต่อไป
ข้อมูลจาก apvideohub, apnew
ข่าวแนะนำ