TNN รู้หรือไม่ ? หมีขั้วโลกไม่ได้มีขนสีขาว แต่แสงกำลังหลอกตาเรา

TNN

Tech

รู้หรือไม่ ? หมีขั้วโลกไม่ได้มีขนสีขาว แต่แสงกำลังหลอกตาเรา

รู้หรือไม่ ? หมีขั้วโลกไม่ได้มีขนสีขาว แต่แสงกำลังหลอกตาเรา

หมีขั้วโลกหรือหมีขาว ไม่ได้มีขนสีขาว แต่กลับไม่มีสีเลยหรือมีลักษณะโปร่งใสนั่นเอง ขนใสนี้สะท้อนแสงทุกสีเท่า ๆ กัน จึงทำให้เรามองเห็นเป็นขนสีขาว

หนึ่งในภาพจำของสิ่งมีชีวิตบริเวณขั้วโลก จะต้อง หมีขั้วโลก หรือบางทีอาจจะเรียกว่า หมีขาว เพราะมองไปแล้วเจ้าหมีมีขนสีขาว กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมแบบหิมะ แต่รู้หรือไม่ว่า เจ้าหมีขั้วโลกหรือหมีขาวนี้ ขนของมันไม่ได้มีสีขาว แต่ไม่มีสีเลย หรือก็คือโปร่งใสนั่นเอง


ขนชั้นนอกของหมีขั้วโลกมีลักษณะยาว หยาบ ด้านในขนจะกลวง และมีลักษณะโปร่งใส หมีขั้วโลกยังมีขนชั้นในอีกด้วย ซึ่งเป็นเส้นบางละเอียด แต่ไม่ได้มีลักษณะกลวงเหมือนขนชั้นนอก แต่โปร่งใสเหมือนขนชั้นนอก ส่วนผิวหนังของหมีขั้วโลกจะมีสีดำ ทั้งนี้เนื่องจากสีดำสามารถดูดซับความร้อนได้ดี ช่วยให้หมีขั้วโลกอาศัยอยู่บริเวณสภาพอากาศหนาวเย็นได้ดีขึ้น


คำถามคือแล้วทำไมเราจึงมองหมีขั้วโลกเป็นสีขาว ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องฟิสิกส์ของสี ต้องอธิบายก่อนว่ามนุษย์เราสามารถมองเห็นสีต่าง ๆ ได้ เพราะวัตถุที่แสงตกกระทบนั้นดูดกลืนและสะท้อนสีได้แตกต่างกัน หากเรามองเห็นบางวัตถุสีแดง นั่นเพราะว่าวัตถุนั้นสะท้อนแสงสีแดงได้มากกว่าสีอื่น ๆ ในกรณีของขนหมีขั้วโลก อากาศที่อยู่ในช่องกลวงของขนนั้นจะกระจายและสะท้อนสีทุกสีเท่า ๆ กัน ส่งผลให้เกิดการสะท้อนของแสงที่สมดุลของทุกสี เราก็จะมองเห็นว่ามันเป็นสีขาว 


ทั้งนี้เคยมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับสีของหมีขั้วโลกเกิดขึ้นในปลายทศวรรษ 1970 คือ หมีขั้วโลกจำนวนหนึ่ง ในสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างเปลี่ยนจากขนสีขาว (ที่ตาเรามองเห็น) ไปเป็นขนสีเขียว นักวิทยาศาสตร์ชื่อ ราล์ฟ เลวิน (Ralph Lewin) และฟิลลิป โรบินสัน (Fhillip Robinson) จึงได้ทำการศึกษาหาสาเหตุในปี 1979 และพบว่าต้นเหตุที่ทำให้เจ้าหมีขั้วโลกขนกลายเป็นสีเขียวก็เพราะมีสาหร่ายที่น่าจะมาจากน้ำในบ่อในกรงหมี เข้าไปเจือปนอยู่ในเส้นขนของบรรดาหมี ๆ นั่นเอง


ที่มาข้อมูล LOC.Gov

ที่มารูปภาพ Wikimedia

ข่าวแนะนำ