ฮัดชิ่ว ! นักดาราศาสตร์ญี่ปุ่นพบ ดวงดาวก็ "จาม" ได้
นักดาราศาสตร์ญี่ปุ่นพบว่าดาวฤกษ์ทารกพ่นฟลักซ์แม่เหล็กออกมา คาดว่านี่อาจเป็นส่วนสำคัญในการก่อตัวของดาวฤกษ์
รู้หรือไม่ ? ไม่ได้มีแค่มนุษย์ที่จามได้ แต่ดวงดาวที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าก็จามได้เช่นกัน โดย นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น มีการค้บพบใหม่คือดาวฤกษ์ทารก (Baby Star) ที่สามารถจามได้ และคาดว่านี่อาจเป็นส่วนสำคัญในการก่อตัวของดาวฤกษ์
การกำเนิดดาวฤกษ์นั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ปัจจุบันนักดาราศาสตร์บนโลกยังไม่รู้กระบวนการเกิดที่แน่ชัด ทั้งนี้ดาวฤกษ์ทุกดวง จะก่อตัวจาก แหล่งอนุบาลดาวฤกษ์ (Stellar nursery) หรือก็คือบริเวณที่ดาวฤกษ์ใหม่กำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งเต็มไปด้วยก๊าซและฝุ่น เมื่อก๊าซและฝุ่นมีความหนาแน่นสูงก็จะควบแน่นจนกลายเป็นแกนกลางดาวฤกษ์และค่อย ๆ พัฒนาเป็นดาวทารก แกนดาวฤกษ์จะสะสมสสารมากขึ้นและมีมวลมากขึ้น จากนั้นก็จะมีฝุ่นและก๊าซก่อตัวเป็นวงแหวนรอบดาวฤกษ์ทารก สิ่งนี้เรียกว่า จานดวงดาวก่อนเกิด (Protostellar Disk)
ในการศึกษาครั้งนี้ นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า MC27 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกเราประมาณ 450 ปีแสง ในระหว่างการศึกษานั้นได้พบโครงสร้าง “คล้ายหนาม” จากจานดวงดาวก่อนเกิด และเมื่อศึกษาลึกขึ้น จึงพบว่ามันคือฟลักซ์แม่เหล็ก ฝุ่น และก๊าซที่ถูกขับออกมา
ทีมนักวิจัยกล่าวว่าปรากฏการณ์นี้เรียกว่าความไม่เสถียรของการแลกเปลี่ยน เกิดขึ้นเมื่อสนามแม่เหล็กที่ไม่เสถียร ไปทำปฏิกิริยากับก๊าซในจานดวงดาวก่อนเกิดที่อยู่รอบ ๆ ดาวทารกด้วยปริมาณที่แตกต่างกัน จนทำให้ฟลักซ์แม่เหล็กถูกขับออกมา ซึ่งคาซูกิ โทคุดะ (Kazuki Tokuda) ผู้ร่วมวิจัยและนักดาราศาสตร์วิทยุมหาวิทยาลัยคิวชู กล่าวว่า “เราเรียกสิ่งนี้ว่า การจาม”
นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังเห็นการพุ่งของพลังงานอีกหลายพันหน่วย ที่อยู่ห่างจากจานดวงดาวก่อนเกิด และเชื่อว่าพลังงานเหล่านี้อาจเป็นเศษของการจามของดวงดาวในอดีต
งานวิจัยอาจจะยังไม่ได้คำตอบเกี่ยวกับการเกิดดาวฤกษ์ที่แน่ชัด แต่การศึกษาครั้งนี้ ก็ทำให้มนุษย์เห็นกระบวนการบางอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจหรือได้คำตอบบางอย่างที่ใกล้เคียงการก่อเกิดดาวฤกษ์มากขึ้น
ที่มาข้อมูล PopSci
ที่มารูปภาพ NASA
ข่าวแนะนำ