ส่องความก้าวหน้าวงการอวกาศโลก | TNN Tech Reports
เทคโนโลยีอวกาศ เป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายประเทศทั่วโลกผลักดันและให้ความสำคัญ เนื่องด้วยมูลค่าที่มหาศาล และประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในการศึกษาเรียนรู้ความเป็นมาของมนุษยชาติและจักรวาล บทความนี้จึงได้รวบรวมความก้าวหน้าของวงการอวกาศต่างประเทศมาฝากกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด
เทคโนโลยีอวกาศ เป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายประเทศทั่วโลกผลักดันและให้ความสำคัญ เนื่องด้วยมูลค่าที่มหาศาล และประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในการศึกษาเรียนรู้ความเป็นมาของมนุษยชาติและจักรวาล
บทความนี้จึงได้รวบรวมความก้าวหน้าของวงการอวกาศต่างประเทศมาฝากกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด
นักบินรัสเซียอยู่บนอวกาศนานสุดในโลก
4 กุมภาพันธ์ 2023 อาจะเป็นวันธรรมดาของใครหลายคน แต่สำหรับวงการอวกาศแล้ว วันนี้ถือเป็นวันสำคัญเพราะได้มีการสร้างสถิติใหม่เกิดขึ้นในอวกาศ โดยนักบินอวกาศชาวรัสเซียที่ชื่อว่า โอเล็ก โคโนเนนโก (Oleg Kononenko) ได้สร้างสถิติการใช้เวลาอยู่บนอวกาศ รวมกันแล้วได้นานที่สุดในโลก
โดยทำลายสถิติเดิมของนักบินอวกาศร่วมชาติอย่าง เกนนาดี ปาดัลกา (Gennady Padalka) ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศรวมกันได้นาน 878 วัน !
ทั้งนี้ โคโนเนนโกยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และยังไม่ได้กลับมายังโลก ดังนั้นเขาจึงยังสามารถทำให้สถิติยาวนานขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าหากโคโนเนนโกอยู่บนอวกาศนานถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2023 ก็จะทำให้เขาอยู่บนอวกาศครบ 1,000 วันพอดี โดยคาดว่าสถิติที่เขาทำได้จะอยู่ที่ 1,110 วัน เนื่องจากเขามีกำหนดสิ้นสุดการบินในวันที่ 30 กันยายนนี้
สำหรับสถิติที่เกิดขึ้น ไม่ได้นับการอยู่บนอวกาศอย่างต่อเนื่องเพียงรอบเดียว แต่เป็นเวลารวมทั้งหมดในทุกรอบการขึ้นไปยังอวกาศ โดยนักบินอวกาศวัยย่างเข้า 60 ปีคนนี้ ได้ขึ้นไปยังอวกาศครั้งแรกในเดือนเมษายนปี 2008 และตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา เขาขึ้นบินไปยังสถานีอวกาศมาแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเดินทางไปกับยานอวกาศโซยุซ MS-24 (Soyuz MS-24) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2023
ภารกิจ "LISA" สำรวจระลอกคลื่นจักรวาล
องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้อนุมัติภารกิจ “ลิซ่า (LISA)” หรือชื่อเต็มคือ Laser Interferometer Space Antenna ซึ่งเป็นความพยายามทางวิทยาศาตร์ในการตรวจจับและศึกษาระลอกคลื่นของจักรวาล
โดยองค์การอวกาศยุโรป จะดำเนินโครงการร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ของสหรัฐฯ และมีกำหนดการปล่อยยานลิซ่าในปี 2035 ด้วยจรวด เอเรียน ซิก (Ariane 6) โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีมูลค่าสูงและซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่หน่วยงานเคยดำเนินการมา
สำหรับระลอกคลื่นจักรวาลหรือที่เรียกว่าคลื่นความโน้มถ่วง เป็นระลอกคลื่นของกาล-อวกาศ ที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเกิดจากการที่วัตถุที่มีมวลขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เช่น การชนกันของหลุมดำ
ในการสำรวจครั้งนี้ ลิซ่า ซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่มยานอวกาศ 3 ลำ จะเดินทางทำมุมกันในรูปแบบ 3 เหลี่ยม โดยที่ยานอวกาศแต่ละลำจะอยู่ห่างกัน 2.5 ล้านกิโลเมตร มากกว่าระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ถึง 6 เท่า และยานอวกาศทั้ง 3 ลำ จะฉายแสงเลเซอร์ระหว่างกัน ซึ่งการเคลื่อนที่ในรูปของสามเหลี่ยมเลเซอร์นี้ จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจจับและศึกษาคลื่นความโน้มถ่วงได้
สำหรับเทคโนโลยีเบื้องหลังการทำงานของลิซ่านี้ ได้รับการทดสอบในอวกาศและประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ผ่านภารกิจ LISA Pathfinder ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งดำเนินการไปในระหว่างปี 2015-2017
สำหรับโครงการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงในอวกาศในภารกิจลิซ่านี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ เข้าใจประวัติศาสตร์ของจักรวาล ย้อนกลับไปก่อนที่ดวงดาวและกาแล็กซี่จะก่อตัวขึ้น หรือแม้แต่ให้ข้อมูลหลังเกิดเหตุการณ์บิ๊กแบงในไม่กี่วินาทีแรกได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เที่ยวบินไร้แรงโน้มถ่วง เตรียมเปิดบริการในญี่ปุ่น
สำหรับใครกำลังมองหาประสบการณ์รูปแบบใหม่ในการบิน ก็มีมาฝากกันในตัวอย่างนี้ กับการเปิดตัวเที่ยวบินไร้แรงโน้มถ่วงในสนามบินเกาะซิโมจิชิมะของญี่ปุ่น
โดยเป็นความร่วมมือระหว่างซีโร่-จี ลอนช์ (0-G Launch) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการบินไร้แรงโน้มถ่วงจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา และ พีดี แอโร่สเปซ (PD AeroSpace) บริษัทด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น
สำหรับเที่ยวบินไร้แรงโน้มถ่วงที่ว่า จะใช้เครื่องบินพาณิชย์ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นพิเศษ เพื่อใช้บินแบบ พาราโบลิก ไฟลต์ (Parabolic fight) ซึ่งเป็นการบินในลักษณะรูปคลื่น เพื่อจำลองสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยการบินแบบนี้มักใช้เพื่อฝึกนักบินอวกาศให้ชินกับสภาวะไร้น้ำหนัก ก่อนเข้าสู่อวกาศจริง หรือใช้ในการทดลองระยะสั้นที่ต้องการทำในสภาวะไร้น้ำหนัก เป็นต้น
โดยจะมีการนำเครื่องบิน สเปซ เจ็ต (Space Jet) ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษของบริษัท ซีโร่-จี ลอนช์ มาให้บริการในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้บริการเที่ยวบินไร้แรงโน้มถ่วงที่มีความแม่นยำสูง
สำหรับโครงการนี้มุ่งเน้นการใช้งานเพื่อการวิจัย การฝึกนักบินอวกาศ และเปิดให้คนทั่วไปได้สัมผัสประสบการณ์ไร้แรงโน้มถ่วง โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2024 ซึ่งเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในประเทศในอนาคต
ข่าวแนะนำ