TNN แผ่นดินไหวไต้หวันรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี แต่เทคโนโลยีเตรียมรับมือล่วงหน้ามีมาแล้ว 1 ทศวรรษ !

TNN

Tech

แผ่นดินไหวไต้หวันรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี แต่เทคโนโลยีเตรียมรับมือล่วงหน้ามีมาแล้ว 1 ทศวรรษ !

แผ่นดินไหวไต้หวันรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี แต่เทคโนโลยีเตรียมรับมือล่วงหน้ามีมาแล้ว 1 ทศวรรษ !

แผ่นดินไหวไต้หวัน ขนาด 7.4 รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี แต่ธรณีพิโรจน์ในครั้งนี้ ไต้หวันอพยพคนได้ทันท่วงทีด้วยเทคโนโลยีที่เตรียมรับมือล่วงหน้าไว้ถึง 10 ปี

เมื่อเวลา 7.58 น. ตามเวลาท้องถิ่นของไต้หวัน เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ซึ่งส่งผลให้บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง นับเป็นแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 25 ปี แต่ทว่า ไต้หวันมีระบบที่เตรียมรับมือล่วงหน้ามาตั้งแต่ 10 ปีก่อน เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตพลเรือนของตนเอง


เหตุการณ์แผ่นดินไหวไต้หวัน

ยูเอสจีเอส (USGS: United States Geological Survey) หน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ได้รายงานแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ในเขตฮวาเหลียน (Hualien) ด้านชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ซึ่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว (Epicentre) นั้นลึกลงไป 34.8 กิโลเมตร และรายงานแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) รวมกว่า 25 ครั้ง ในขณะที่ทางการไต้หวัน ยังรายงานอีกด้วยว่าแผ่นดินไหวตามที่มีความรุนแรงถึงขนาด 7 อาจมีโอกาสเกิดขึ้นตลอดสัปดาห์นี้


เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้นับว่าเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในไต้หวันหลังจากเกิดขึ้นในปี 1999 ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่ออาคารบ้านเรือนแล้ว ยังก่อให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 50 เซนติเมตร และคลื่นสึนามีความสูงประมาณ 3 เมตร บริเวณชายฝั่งของหมู่เกาะโอกินาวาในญี่ปุ่นด้วย


แม้ว่าแผ่นดินไหวจะรุนแรงและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่ไต้หวันนั้นมีระบบรับมือที่ทันสมัย ซึ่งทำให้หน่วยงานของไต้หวันสามารถอพยพคนได้อย่างทันท่วงที และลดความสูญเสียของชีวิตในไต้หวันได้


ระบบติดตามแผ่นดินไหวของไต้หวัน

ระบบดังกล่าวนั้นเรียกว่า RMT (Real-Time Moment Tensor) เป็นระบบติดตาม (Monitoring System) ที่ทันสมัยที่สุดของไต้หวัน ระบบดังกล่าวสามารถบอกตำแหน่ง ลักษณะคลื่นแผ่นดินไหว และความรุนแรงของการสั่นตามเวลาจริง โดยมีการแสดงผลข้อมูลล่าสุดทุก ๆ 2 วินาที 


โดยระบบ RMT จะรับสัญญาณจากเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismometer) ที่มีกระจายทั่วเกาะของไต้หวัน รวมถึงสถานีวัดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งที่อยู่กลางทะเลรอบเกาะ ดังนั้น เมื่อได้รับข้อมูลแผ่นดินไหวจากสถานีกลางทะเล ผู้เชี่ยวชาญสามารถคำนวณเพื่อดูระยะเวลาก่อนที่แผ่นดินไหวจะเดินทางมาถึงชายฝั่ง รวมถึงใช้วิเคราะห์โอกาสเกิดสึนามิได้อีกด้วย


ทั้งนี้ ระบบ RMT เปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลงานของสถาบันวิทยาศาสตร์โลก อะคาเดเมีย ซินิกา มหาวิทยาลัยแห่งไต้หวัน (Institute of Earth Sciences, Academia Sinica, National Taiwan University) เพื่อรับมือกับแผ่นดินไหวในไต้หวัน ที่มีข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหว (Seismicity) ซึ่งบ่งชี้ว่าการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (Plate tectonic)ในบริเวณนี้ศักยภาพในการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 


โดยหนึ่งในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงมากที่สุดในพื้นที่ไต้หวัน เกิดขึ้นในปี 1999 ไต้หวันเกิดแผ่นดินไหวขนาดโมเมนต์ (Moment Magnitude) 7.7 ที่บริเวณทางตะวันออกของเขตหนานโถว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2,415 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 11,305 คน ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 3 เมษายนนี้ รายงานเมื่อเวลา 13.20 น. จาก CNN ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 4 คน ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 711 ราย และยังติดใต้สิ่งปลูกสร้างเกือบ 80 ชีวิต 



ข้อมูลจาก CNNReutersInteresting EngineeringInstitute of Earth Sciences - Academia SinicaWikipedia

ภาพจาก Reuters

ข่าวแนะนำ