TNN 1 เมษายน 1976 สตีฟ จอบส์ และสตีฟ วอซเนียก ก่อตั้งบริษัท แอปเปิล (Apple) ในโรงรถ

TNN

Tech

1 เมษายน 1976 สตีฟ จอบส์ และสตีฟ วอซเนียก ก่อตั้งบริษัท แอปเปิล (Apple) ในโรงรถ

1 เมษายน 1976 สตีฟ จอบส์ และสตีฟ วอซเนียก ก่อตั้งบริษัท แอปเปิล (Apple) ในโรงรถ

1 เมษายน 1976 สตีฟ จอบส์ และสตีฟ วอซเนียก ก่อตั้งบริษัท แอปเปิล (Apple) ในโรงรถข้างบ้าน จนกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลก

ตำนานการก่อตั้งบริษัท แอปเปิล (Apple) ในโรงรถข้างบ้านมักถูกหยิบยกมาพูดถึงในทุกวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เนื่องจากบริษัทแห่งนี้ปัจจุบันเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก แม้ในช่วงต้นปี 2024 โดนบริษัท Microsoft คู่แข่งแซงขึ้นอันดับหนึ่งในบางช่วง


แนวคิดของบริษัทในช่วงแรกต้องการเปลี่ยนแปลงโลกของคอมพิวเตอร์ให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของตัวเอง แตกต่างจากภาพเดิม ๆ ในยุคเดียวกันที่คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องขององค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ติดตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในอาคาร


ผลงานคอมพิวเตอร์ในช่วงแรกของบริษัท แอปเปิล (Apple) ถูกพัฒนาขึ้นโดยสตีฟ วอซเนียก ซึ่งถูกยกให้เป็นอัจริยะด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่สตีฟ จอบส์มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดที่หาตัวจับยากมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น จึงกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการก่อตั้งบริษัท Apple ร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน คือ โรนัลด์ เวย์น


ผลงานคอมพิวเตอร์ Apple l เครื่องแรกถูกเปิดตัวออกสู่ตลาดครั้งแรกในงาน Homebrew Computer Club แม้ในช่วงแรกส่วนประกอบบางชิ้นจะทำได้ไม้ อย่างไรก็ตามในปี 1977 คอมพิวเตอร์ Apple l ก็ยุติการผลิตและบริษัทหันไปพัฒนาคอมพิวเตอร์ Apple ll โดยเปิดตัวครั้งแรกในงาน West Coast Computer Fair โดยใช้จุดเด่นแสดงภาพกราฟิกและรองรับฟลอปปี้ดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากในยุคนั้น


ต่อมาในช่วงปี 1980-1990 บริษัทประสบความสำเร็จจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ซึ่งชื่อของแมคอินทอชถูกใช้กับคอมพิวเตอร์หลายรุ่นของบริษัท ก่อนจะทำการตัดเหลือแค่คำว่าแมค ซึ่งเป็นชื่อของคอมพิวเตอร์ของบริษัท Apple ในปัจจุบัน


และในช่วงปี 1980 นั้นเองนับเป็นช่วงเวลาสำคัญของบริษัท แอปเปิล (Apple) เนื่องจากบริษัทได้เข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM และ Microsoft ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการบุกตลาดคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นเดียวกัน 


ด้วยสไตล์การทำงานที่ดุดันและนิสัยโมโหร้ายของสตีฟ จอบส์ ทำให้เขามีเรื่องทะเลาะกับพนักงานคนอื่น ๆ ในทีมเป็นระยะทำให้สถานการณ์ในบริษัทเริ่มตึงเครียดตลอดเวลา ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดจากบริษัทคู่แข่ง ในปี 1985 รอยบาดหมางใจระหว่างสตีฟ จอบส์และจอห์น สกัลลีย์ CEO ของบริษัท แอปเปิล (Apple) ในขณะนั้นเริ่มชัดเจนขึ้น 


การบีบให้สตีฟ จอบส์ ต้องลาออกจากบริษัทเริ่มชัดเจนขึ้น สตีฟ จอบส์ ถูกตัดสิทธิในการบริหารและห้ามวางแผนพัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ของบริษัท หรือเป็นการไล่ออกในทางปฏิบัติ จนกระทั่งคณะกรรมการของบริษัทตัดสินใจโหวตสตีฟ จอบส์ออกจากบริษัท ส่วนสตีฟ วอซเนียกเพื่อนคู่หูที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัทลาออกจากบริษัทในปีเดียวกัน 


อย่างไรก็ตาม ในปี 2012 ภายในงานแสดงเทคโนโลยี CES 2012 จอห์น สกัลลีย์ได้ออกมาเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ไล่สตีฟ จอบส์ ออกจากบริษัท และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้บริษัท แอปเปิล (Apple) ต้องตกต่ำลงไปในช่วงเวลาหนึ่ง พร้อมก้าวว่าปัญหาต่าง ๆ ของบริษัท Apple ในช่วงนั้นเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีของเรายังไม่พัฒนาเพียงพอที่จะรองรับการใช้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล


หลังจากที่สตีฟ จอบส์ ถูกไล่ออกจากบริษัท แอปเปิล (Apple) ได้ไปก่อตั้งบริษัท NeXT Computer และ Pixar โดยบริษัท Pixar ได้กลายเป็นบริษัทแรก ๆ ของโลกที่พัฒนาการ์ตูนแอนิเมชั่นจนประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันสถานการณ์ในบริษัท แอปเปิล (Apple) กลับกำลังย่ำแย่เนื่องจากถูกคู่แข่ง เช่น บริษัท ไมโครซอฟต์ (Microsoft) ตีตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 


ในปี 1996 คณะกรรมการผู้บริหารจึงตัดสินใจเชิญสตีฟ จอบส์ เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารบริษัทอีกครั้ง ด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัท NeXT Computer ส่วนสตีฟ วอซเนียก เพื่อนคู่หูที่ก่อตั้งบริษัท แอปเปิล (Apple) มาร่วมกันนั้น หลังจากลาออกจากบริษัท แอปเปิล (Apple) ก็ไม่ได้กลับมาทำงานในบริษัท Apple อีกเลย


การกลับเข้ามาทำงานในบริษัท แอปเปิล (Apple) ของสตีฟ จอบส์ เปรียบเหมือนการกลับเข้ามากอบกู้บริษัทที่ตนเองสร้างขึ้นมากับมือ กล่าวกันว่างานแรก ๆ ที่สตีฟ จอบส์ทำหลังกลับเข้ามารับตำแหน่ง คือ การไล่คณะกรรมการบริษัทชุดเก่าออกเกือบทั้งหมด และจัดตั้งทีมงานขึ้นมาใหม่ภายใต้การบริหารจัดของตัวเอง ส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัท แอปเปิล ก็เริ่มหันมาโฟกัสและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มจะเป็นเทคโนโลยีอนาคตมากกว่าการกระจายผลิตภัณฑ์ออกเป็นหลายรูปแบบ นั่นเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีคุณภาพ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช เครื่องไอแมค ไอพอท (iPod) รวมไปถึงไอโฟน (iPhone) ในเวลาต่อมา


สตีฟ จอบส์ เสียชีวิตลงในปี 2011 หลังจากบริษัท แอปเปิล (Apple) เปิดตัว iPhone 4s เนื่องจากโรคมะเร็งตับอ่อน ขณะมีอายุได้ 56 ปี ส่วนสตีฟ วอซเนียก ปัจจุบันยังคงมีชีวิตอยู่ในวัย 73 ปี และมีบริษัทของตัวเองด้านเทคโนโลยี การบรรยายให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเทคโนโลยีกำจัดขยะบนอวกาศในช่วงปี 2021


ที่มาของข้อมูล en.wikipedia.org, companiesmarketcap.com, privateer.com

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ