ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดในอวกาศ ? บริษัทสหรัฐฯ เตรียมทำเหมืองบนดวงจันทร์ หวังส่งฮีเลียม-3 กลับมาใช้บนโลก
บริษัท Interlune เตรียมทำเหมืองบนดวงจันทร์เพื่อนำฮีเลียม-3 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 1.1 ล้านเมตริกตัน กลับมาใช้งานบนโลก ทั้งนี้ ฮีเลียม-3 เพียง 25 ตัน สามารถจ่ายพลังงานให้กับประเทศสหรัฐฯ ตลอดทั้งปี
รู้หรือไม่ว่าฮีเลียม-3 (Helium-3) เพียง 25 ตัน เพียงพอที่จะจ่ายพลังงานให้กับประเทศสหรัฐฯ ตลอดทั้งปี น่าเสียดายที่ฮีเลียม-3 ที่พบบนชั้นบรรยากาศโลกนั้นมีน้อย บางรายงานชี้ว่ามีอนุภาคฮีเลียม-3 ลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศโลกประมาณ 300 กรัมต่อปี แต่บางแหล่งก็ชี้ว่า อนุภาคนี้หลุดออกมาจากแกนกลาง (Core) ของโลกประมาณ 2 กิโลกรัมต่อปี และแน่นอนว่ามันไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานของโลกได้ แต่แม้บนโลกจะมีฮีเลียม-3 น้อย สวนทางกับบนดวงจันทร์ ที่มีรายงานคาดการณ์ว่า บนดวงจันทร์จะมีฮีเลียม-3 ประมาณ 1,100,000 เมตริกตัน ซึ่งนั่นนับเป็นปริมาณที่มหาศาลเลยทีเดียว
ดังนั้นสหรัฐฯ จึงมีแผนการทำเหมืองฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์ ก่อนที่จะส่งกลับมาใช้งานบนโลกของเรา บริษัทที่ว่านี้ชื่อ อินเทอร์ลูน (Interlune) ได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 540 ล้านบาท ก่อตั้งโดยแฮร์ริสัน ชมิตต์ (Harrison Schmitt) สมาชิกลูกเรืออะพอลโล-17 (Apollo-17) ของนาซา และร็อบ เมเยอร์สัน (Rob Meyerson) อดีตประธานบริษัทผู้ผลิตยานอวกาศสัญชาติสหรัฐฯ อย่างบลู ออริจิน (Blue Origin) โดยมีเป้าหมายที่จะกลายเป็นผู้เล่นอวกาศรายแรกที่เก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติบนดวงจันทร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาหุ่นยนต์ลงจอดบนดวงจันทร์เพื่อตรวจจับความเข้มข้นของฮีเลียม-3 บนพื้นที่ต่าง ๆ ของดวงจันทร์
ทั้งนี้สำหรับฮีเลียม-3 ถือเป็นไอโซโทปที่หาได้ยากมากที่สุดชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชันบนดวงอาทิตย์ โฟตอน 2 ตัวจะรวมกับนิวตรอน 1 ตัว และอิเล็กตรอน 2 ตัว เกิดเป็นอนุภาคฮีเลียม-3 มีพลังงานสูง หลังจากนั้นลมสุริยะก็จะพัดพาอนุภาคฮีเลียม-3 นี้ไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในจักรวาล แต่เมื่อลมสุริยะพัดมาถึงโลก อนุภาคฮีเลียม-3 ส่วนใหญ่ไม่สามารถทะลุผ่านสนามแม่เหล็กโลกเข้ามาได้ มีเพียงบางส่วน ที่สามารถเข้ามายังโลกได้บริเวณขั้วแม่เหล็กโลก และนั่นเองที่เป็นผลทำให้เกิดปรากฏการณ์อันสวยงามอย่าง แสงออโรร่า
นอกจากเกิดในระหว่างกระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชันบนดวงอาทิตย์แล้ว อนุภาคฮีเลียม-3 ยังสามารถเกิดบนโลกได้ด้วย โดยเกิดจากการสลายตัวของไอโซโทปในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมถึงสลายตัวจากแกนกลางโลกที่เป็นโลหะ แต่ก็เกิดเพียงปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบปริมาณที่แน่นอน
ส่วนบนดวงจันทร์นั้นไม่มีชั้นบรรยากาศ และไม่มีสนามแม่เหล็กคอยหยุดยั้งลมสุริยะด้วย ดังนั้นพื้นผิวดวงจันทร์จึงได้รับอนุภาคพลังงานสูงและมีความต่อเนื่อง ทำให้ดวงจันทร์กลายเป็นแหล่งฮีเลียม-3 อย่างอุดมสมบูรณ์ตามที่ได้กล่าวถึง
เจอรัลด์ คูลซินสกี้ (Gerald Kulcinski) ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีฟิวชั่นแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน บอกว่า “ฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์มีมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อตัน มันเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในอวกาศ”
ฮีเลียม-3 เพียงอย่างเดียวมีศักยภาพที่จะจัดหาพลังงานสะอาดได้อย่างเพียงพอต่อทั้งโลก และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ด้าน Interlune ชี้ว่าฮีเลียม-3 จากดวงจันทร์สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การถ่ายภาพทางการแพทย์ไปจนถึงนิวเคลียร์ฟิวชันและคอมพิวเตอร์ควอนตัม
Interlune ยังอ้างว่าพวกเขามีเทคโนโลยีในการดำเนินภารกิจนี้อย่างยั่งยืนและรอบคอบ “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติจากดวงจันทร์ มีความเป็นไปได้ทั้งทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ Interlune ไม่ใช่ผู้เล่นเพียงคนเดียวที่มีเป้าหมายในการทำเหมืองบนดวงจันทร์ เพราะในเดือนมิถุนายน 2023 องค์การนาซา (NASA) ก็ได้ประกาศแผนการที่จะเริ่มการทำเหมืองบนดวงจันทร์ภายในปี 2032 ด้วยเช่นกัน ซึ่งในภารกิจอาร์เทมิสและภารกิจเกตเวย์ นักบินอวกาศก็จะต้องทำภารกิจแยกทรัพยากรธรรมชาติออกจากพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้เล่นคนไหนจะเป็นผู้ที่ทำเหมืองบนดวงจันทร์สำเร็จ แต่นั่นก็นับเป็นอีกก้าวสำคัญด้านพลังงานของมวลมนุษยชาติ
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering
ที่มารูปภาพ Interlune
ข่าวแนะนำ