นึกว่าโทรศัพท์สั่น แต่ลั่นไปเอง ! รู้หรือไม่อาการนี้เรียกว่าอะไร ?
กลุ่มอาการสั่นหลอน (Phantom vibration syndrome) คืออาการที่ผู้คนรู้สึกว่าโทรศัพท์สั่น แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น พฤติกรรมนี้อาจเกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป
หลายคนน่าจะเคยมีอาการเหมือนว่าโทรศัพท์สั่น มีแจ้งเตือนเข้ามาตลอด แต่เมื่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็ค กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครโทรมา ไม่มีข้อความ ไม่มีแจ้งเตือนใด ๆ เลย รู้หรือไม่ว่าอาการนี้เรียกว่า”อาการสั่นหลอน หรือ PVS (พีวีเอส) ย่อมาจาก Phantom Vibration Syndrome”
โรเบิร์ต โรเซนเบอร์เกอร์ (Robert Rosenberger) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจียเทค (Georgia Institute of Technology) รัฐแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีกับพฤติกรรมของมนุษย์เรา โดยกลุ่มอาการสั่นหลอน (Phantom vibration syndrome) คืออาการที่ผู้คนรู้สึกว่าโทรศัพท์สั่น แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ซึ่งพฤติกรรมนี้อาจเกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป รวมไปถึงการคาดหวังว่าใครบางคนจะส่งข้อความหรือติดต่อเรามา สมองจึงตีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
อาการนี้เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป อย่างเมื่อปี 2012 มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ว่านักศึกษาระดับปริญญาตรี 89% มีอาการเช่นนี้ และมักจะเกิดขึ้น 2 สัปดาห์ต่อครั้ง
หากเราพบว่ามีอาการสั่นหลอก และต้องการลดอาการ ก็สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดเวลาการใช้งานโทรศัพท์ การปิดการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็น การเก็บโทรศัพท์ไว้ในส่วนที่ไม่อยู่ใกล้ผิวมากเกินไป เช่น ในกระเป๋าสะพาย แทนกระเป๋ากางเกง เป็นต้น
โดยส่วนมากแล้วอาการสั่นหลอกมักไม่เป็นอันตราย แต่มันเป็นผลพวงที่ได้จากพฤติกรรมในโลกสมัยใหม่ของเรา เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าชีวิตของเราถูกเทคโนโลยีก้าวล้ำเข้ามามากขึ้น
ข่าวแนะนำ